14/9/2560

ชาตรามือ ปังข้ามศตวรรษ

      เมื่อพูดถึงชาตรามือ หลายคนอาจคุ้นหูไม่เท่าคุ้นตากับโลโก้สีแดงแสดงภาพมือชูนิ้วโป้ง บ่งบอกถึงความเยี่ยมยอดของคุณภาพสินค้า ชาตรามือถือเป็นชาไทยเจ้าแรกๆ ที่โด่งดังมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มร้านเครื่องดื่ม แต่น่าเสียดายสำหรับผู้บริโภคทั่วไปแล้ว น้อยคนนักจะรู้ว่า ชารสชาติหอมอร่อยที่ซื้อกินบ่อยๆ นั่นคือชาตรามือ กาลเวลาผ่านมากระแสนิยมดื่มชาของคนไทยมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปิดพื้นที่ให้ชาต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น นี่เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช ทายาทเจเนอเรชั่นล่าสุดของชาตรามือ ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์ โดยตั้งเป้ายกระดับชาตรามือให้เป็นเอกลักษณ์ชาไทย ที่มีรสชาติไม่แพ้ใครในโลก​​

ว่า 100 ปีแห่งตำนานชาไทย
       ชาตรามือก่อตั้งมากว่าร้อยปี ด้วยความเป็นมืออาชีพในเรื่องของการผลิตชาคุณภาพของครอบครัวพราวนรินทร์ตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ในประเทศจีน ก่อนจะย้ายมาตั้งรกรากในเมืองไทย ซึ่งได้นำธุรกิจชาเข้ามาเผยแพร่ในไทยและปรับตัวชาให้เข้ากับความชอบของคนไทย ในช่วงแรกเน้นการขายเป็นหลัก โดยขายส่งให้ยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว เอาไปขายต่อให้กับร้านชง ซึ่งบางร้านก็ชงออกมาอร่อย บางร้านก็ไม่อร่อย จึงคิดอยากมีหน้าร้านไว้เป็นช่องทางสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่จัดแสดงสินค้าที่มีอยู่หลากหลายของบริษัท เพื่อให้ร้านชงได้มาเลือกสรรไปสร้างเมนูใหม่ๆ เสนอผู้บริโภคพร้อมกัน

เลือกใช้ชื่อ “ตรามือ” สร้างการรับรู้
       พราวนรินทร์เล่าว่า ตอนแรกเธอไม่ได้ใช้ชื่อแบรนด์ว่าตรามือ แต่บนตัวผลิตภัณฑ์จะมีรูปมือยกนิ้วโป้งขึ้นมาเพื่อแสดงถึงคุณภาพที่ดีเยี่ยม กับรูปกาชงชา ลูกค้าบางคนก็เลยเรียกชาตรามือบ้าง ตรากาบ้าง ทำให้ต้องคิดตั้งชื่อแบรนด์แบบจริงจัง ในที่สุดจึงเลือกใช้ “ตรามือ” เพราะภาพให้ความหมายที่ดีกว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้คนดื่มส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักชาตรามือเท่าไร เพราะเป็นชาที่ขายให้กับคนชง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บอกว่าใช้ผลิตภัณฑ์ของอะไร คุณพ่อของเธอจึงอยากให้มีหน้าร้านเพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง เพื่อให้ลูกค้าที่เป็นคนดื่มได้รู้จักแบรนด์อย่างถูกต้อง

ไม่เน้นขยายสาขา แต่เน้นทำเลและการบอกต่อ
       ปัจจุบันมีร้านชาตรามือทั้งหมด 50 สาขา ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและสถานที่สำคัญ การตกแต่งร้านเน้นให้ดูเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เพื่อลบภาพเก่าๆ ที่หลายคนอาจรู้สึกว่าชาตรามือเป็นของโบราณ ไม่เน้นการขยายสาขาให้มีจำนวนมาก แต่เน้นทำเลที่คนเข้าถึงได้ง่ายตามหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพราะจะเน้นเป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ให้ผู้บริโภคได้มาทำความรู้จักกับตัวตนที่แท้จริง ซึ่งเชื่อมั่นว่าคุณภาพของชาตรามือจะทำให้เกิดปรากฏการณ์บอกต่อ ทำให้ลูกค้ารู้จักโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มงบโฆษณาอะไรมากมาย

คอนเซ็ปต์หลัก คือ หอม อร่อย

       คอนเซ็ปต์หลักของชาตรามือคือ หอม อร่อย ถูกใจผู้ดื่ม ในราคาคุ้มค่า เครื่องดื่มในแต่สาขาจะมีราคาไม่เท่ากัน เพราะมีต้นทุนที่ต่างกันไป ซึ่งนอกจากเครื่องดื่มแล้ว ยังพยายามสรรหาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอ เช่น ไอศกรีมซอฟท์ชาไทย เพื่อช่วยโปรโมทชาตรามือ โดยเปิดจำหน่ายเฉพาะสาขาที่ชาวต่างชาตินิยมไป เช่น เทอมินอล 21และสนามบินดอนเมือง

ออกสินค้าใหม่ ตอบรับยุคสมัยที่เปลี่ยน
       นอกจากสินค้าตัวเก่าๆ ที่คุ้นตา ร้านชาตรามือยังออกสินค้าตัวใหม่ๆ ปรับให้เข้ากับยุคสมัยนิยม เช่น ชากุหลาบที่ออกมาเพื่อให้เข้ากับเทศกาลวาเลนไทน์ มีการออกแบบแก้วใส่เป็นลายดอกกุหลาบเพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับชาตรามือ ซึ่งมีบล็อกเกอร์มาซื้อดื่มแล้วเอาไปรีวิวให้ ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ซึ่งไม่ได้พูดถึงแค่แก้วที่ดูสวยแปลกตา แต่ยังพูดถึงรสชาติของกุหลาบและคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพด้วย

แบรนด์ที่โดดเด่น เหมือนดาราที่มี Character
       “ถ้าเราไม่สร้างแบรนด์เลย ก็จะทำให้ไม่มีจุดยืนในการต่อยอดธุรกิจ เพราะธุรกิจชาใครๆ ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ทำออกมาแล้วจะเป็นที่ถูกใจคนดื่มหรือเปล่า” พราวนรินทร์บอกว่า การสร้างแบรนด์ก็เหมือนกับการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง เฉกเช่นดารานักแสดงที่มีบุคลิกเป็นของตัวเอง อาจมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องทำให้คนรักมากกว่าคนเกลียด ถ้าทำได้ เวลาไปแสดงหนังเรื่องอะไร คนก็จะตามไปดู ชาตรามือก็มีเอกลักษณ์ ซึ่งพยายามพัฒนาให้มีคุณภาพเป็นที่ถูกใจคนดื่มส่วนใหญ่ ร้านไหนเอาชาไปชง คนก็จะตามไปอุดหนุนเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพรสชาติของชาตรามือ ด้วยลักษณะของสินค้าที่เป็นชาผง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อดื่มจากร้านมากกว่าซื้อตัวผลิตภัณฑ์ไปชงดื่มเองที่บ้าน ทำให้มีข้อจำกัดในการโฆษณา การมีหน้าร้านจึงตอบโจทย์ได้มากกว่า หลังเปิดร้านมาได้ไม่นาน ชาตรามือก็เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นและผลพลอยได้ที่ตามมาคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสได้มาลิ้มลอง ทำให้รู้ถึงความแตกต่างจากชาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย

       ผู้บริหารสาวคนเก่งกล่าวตบท้ายว่า ชาตรามือเป็นเอกลักษณ์ที่อยู่กับคนไทยมานาน ถ้าในแง่ผู้ผลิตชาที่หันมาเปิดร้านชาภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเอง ชาตรามือถือเป็นเจ้าแรก วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตรายอื่นต้องพัฒนาตามในด้านคุณภาพเพื่อร่วมด้วยช่วยกันยกระดับชาไทยให้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย พร้อมๆ กับพัฒนาชารสชาติใหม่ๆ ออกมาเสนอตลาด ซึ่งนอกจากชาผงชงดื่มที่ขายส่งให้กับยี่ปั๊ว-ซาปั๊วแล้ว ปัจจุบันชาตรามือยังมีชาสำเร็จรูปพร้อมชงดื่มวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดอย่าง ท็อป ฟู้ดแลนด์ และแมคโครด้วย ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของ“ชาตรามือ”แบรนด์ไทยแท้ในตำนาน


สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต​​​