Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

การจัดพอร์ตการลงทุนในยามที่ตลาดมีสัญญาณร้ายเพิ่มขึ้น

การจัดพอร์ตการลงทุนในยามที่ตลาดมีสัญญาณร้ายเพิ่มขึ้น

​​ความผันผวนรายวันของตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้โลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากสาเหตุหลายด้านด้วยกัน แต่สาเหตุหลักๆ 4 ด้านที่รุมเร้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ในช่วงนี้ คือ

  1. สภาวะ “Invested Yield Curve" หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ลดลงเหลือ 1.469 % ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 2 ปีที่ 1.504 % ในวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งนี่เป็นครั้งที่สองแล้วในปีนี้ การเกิด  “Invested Yield Curve" นั้นมักจะตามมาด้วยสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ไม่ใช่ทุกๆ ครั้ง เช่นปี 1998 ก็เคยเกิดขึ้นเบาๆ ครั้งหนึ่ง แต่ใช้เวลาอีก 2 ปีครึ่ง จึงเกิดเศรษฐกิจถดถอยและตลาดหุ้นพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่เกิดฟองสบู่ดอดคอมแตกในปี 2001
  2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคผลิตประจำเดือนสิงหาคม 2019 ก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ 49.9 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นเส้นแบ่งระหว่างสภาวะหดตัวและขยายตัว (> 50 สะท้อนการขยายตัว และ < 50 สะท้อนการหดตัว) เป็นครั้งแรกและแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี
  3. ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ก็ดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม สภาแห่งรัฐของจีนซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีจีน ประกาศว่าจีนจะเรียกเก็บภาษีในอัตรา 5-10% เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ประกาศจะจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 10% ต่อมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ออกมาตอบโต้จีนทันทีหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการทวีตสั่งให้บริษัทสหรัฐฯ รีบถอนตัวออกจากจีน เพื่อกลับมาผลิตสินค้าในสหรัฐฯ พร้อมกับประกาศว่าสหรัฐฯ จะเริ่มจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนวงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอัตรา 15%  ไม่ใช่ 10% ที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
  4. ข่าวดีที่นักลงทุนรอคอย ไม่ได้เป็นไปอย่าที่คาดเมื่อคำแถลงการณ์ของประธาน FED นายเจอโรม พาวเวล ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิ่ง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ไม่ได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เริ่มมีสัญญาณร้ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น การจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้จึงมีความสำคัญมาก การจัดพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมและเน้นน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำจะช่วยให้นักลงทุนรอดพ้นจากสภาวการณ์ดังกล่าวได้ โดยรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ คือ การแบ่งเงินลงทุนส่วนใหญ่ 60%-70% ในกองทุนผสมเพื่อเป็นแกนกลางสร้างความมั่งคั่งระยะยาว 10-20% เน้นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสม่ำเสมอ 10-15% เพิ่มผลตอบแทนด้วยการลงทุนกองทุนหุ้นที่มีกลไกควบคุมความเสี่ยง และส่วนที่เหลือ 5% เน้นกระจายการลงทุนในทองคำเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยง ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่การลงทุนผันผวนมาก แต่มีสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนไปในทิศทางที่สวนกันคือ หุ้นตก ตราสารหนี้ขึ้น ทำให้ผู้ที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ยังคงมีผลตอบแทนที่ดีได้ 


ประจำวันที่ 2 กันยายน 2562


กลับ
PRIVATE BANKING