Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

3 ทางเลือกการลงทุนใหม่...กับผลตอบแทนที่ออกแบบได้

3 ทางเลือกการลงทุนใหม่...กับผลตอบแทนที่ออกแบบได้

​ผ่านไตรมาสแรกของปี 2019 กับผลตอบแทนของตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกที่พลิกความคาดหมายของ นักลงทุน ดัชนี  MSCI World และดัชนีตราสารหนี้โลก JPMorgan Global Aggregate Bond ทะยานพุ่งขึ้นกว่า 11.86% และ 2.42% ตามลำดับ นับได้ว่าหักปากกานักวิเคราะห์หลายสำนักกันถ้วนหน้าเลยทีเดียว เพราะส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าปีนี้จะเป็นอีกปีแห่งความท้าทาย จากความไม่แน่นอนในอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงมากขึ้นและขยายเป็นวงกว้าง ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อและไร้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม สถานการณ์ BREXIT ที่สับสนกับเงื่อนเวลาที่ถูกผลักออกไป รวมถึงท่าทีของเฟดที่สงวนท่าที แม้มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 


ท่ามกลางผลตอบแทนจากสินทรัพย์ต่างๆ ที่ปรับขึ้น นักลงทุนยังลังเลที่จะลงทุนเพิ่มในจังหวะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะราคาพุ่งขึ้นแรงและเร็ว ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายสำคัญๆ ยังคลุมเครือ การที่ตลาดหุ้นโลกทุกดัชนีปรับขึ้นถึงระหว่าง 8-15% ทำให้อาจมีแรงเทขายทำกำไรระยะสั้นออกมามากได้เช่นกัน หากมีปัจจัยลบมากระทบความเชื่อมั่นของตลาดเพียงเล็กน้อย จึงไม่แปลกที่สถาบันการเงินต่างๆ เดินหน้าปรับรูปแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพิ่มความหลากหลาย และยกระดับผลิตภัณฑ์สู่สากลมากขึ้น เช่น 

  1. เพิ่มผลตอบแทนด้วยการลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) โดยเงินทุนจะถูกนำไปใช้พัฒนาบริษัทนอกตลาดที่มีศักยภาพให้มูลค่าสูงขึ้นในอนาคต เช่น พัฒนาเทคโนโลยี ดึงดูดบุคลากร ขยายส่วนแบ่งตลาด ปรับปรุงกระบวนการ ซื้อทรัพย์สิน เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน หรือเสริมความแข็งแกร่งให้งบการเงิน และทำให้สามารถเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในที่สุด ส่วนใหญ่ บริษัทนอกตลาดมีความสามารถจำกัดในการกู้ยืมเงินและระดมทุน รวมทั้งมีชื่อเสียงและประสบการณ์ต่ำกว่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผลตอบแทนคาดหวังของ Private Equity ในตลาดโลกเฉลี่ยสูงถึง 15-20% ต่อปี หรือผลตอบแทนเท่าตัวในเวลาเพียงเวลา 5-7 ปี อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงย่อมมีมากกว่า ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูล รวมทั้งสภาพคล่อง นักลงทุนอาจต้องยอมลงทุนต่อเนื่องในระยะเวลา 5-7 ปีเป็นอย่างน้อย โดยไม่สามารถขายการลงทุนออกได้ ดังนั้นควรเลือกใช้ทีมผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถสูง มีประวัติและวินัยการลงทุนที่ดี รวมทั้งมีกระบวนการกลั่นกรองบริษัทต่างๆ อย่างรัดกุม 
  2. ลดความผันผวนด้วย Convertible Bond หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ หนึ่งในเครื่องมือทรงประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยงคือ หุ้นกู้แปลงสภาพ ที่มีคุณสมบัติของหุ้นกู้ ในแง่ที่นักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้และจะได้รับดอกเบี้ยเป็นงวดๆ และอีกคุณสมบัติหนึ่งที่แฝงมาคือนักลงทุนสามารถเปลี่ยนสภาพจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ เรียกได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะกึ่งหนี้กึ่งทุน ดังนั้น ในสภาวะตลาดขาลง คุณสมบัติของหุ้นกู้จะพยุงราคาและจำกัดผลขาดทุนได้ดี ขณะที่ในสภาวะตลาดขาขึ้นผลตอบแทนอาจก้าวกระโดด เพราะคุณสมบัติของการแปลงสภาพทำให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาหุ้นของบริษัทนั้นๆ จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้แปลงสภาพมีวัตถุประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนให้ได้สูงคล้ายหุ้น ขณะที่ความเสี่ยงลดลงในช่วงตลาดผันผวนคล้ายหุ้นกู้
  3. ผลตอบแทนที่ออกแบบได้กับ Structured Note หรือหุ้นกู้อนุพันธ์ หุ้นกู้อนุพันธ์ได้รับการออกแบบให้สร้างผลตอบแทนในสถานการณ์ต่างๆ และมีกลไกควบคุมการสูญเสียเงินต้นอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวน โดยข้อควรพิจารณาหลักๆ คือการเลือกผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ที่สถานะการเงินแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือในการคุ้มครองเงินต้น หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และการเลือกระยะเวลาลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการสภาพคล่อง เพราะหลายตราสารไม่มีการซื้อขายในตลาดรอง มีต้นทุนสูงในการยกเลิกการลงทุนก่อนครบกำหนด ทำให้เงินลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ส่วนใหญ่จะต้องอยู่ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ต่างจากการลงทุนอื่น ที่สามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ

เครื่องมือการลงทุนอย่าง Private Equity หุ้นกู้แปลงสภาพ และหุ้นกู้อนุพันธ์ น่าจะเป็นหนึ่งในทางเลือกในทุกๆ พอร์ตการลงทุน เพราะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ออกแบบได้ตามต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจ และตลาดเงินตลาดทุนโลก


ประจำเดือน พฤษภาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING