Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

กลยุทธ์การลงทุนรับมือตลาดปี 2019

กลยุทธ์การลงทุนรับมือตลาดปี 2019

ปี 2018 นอกจากจะเป็นปีที่ผลตอบแทนของหลายๆ สินทรัพย์ย่ำแย่ที่สุดในรอบทศวรรษแล้ว ยังเป็นปีที่ภาวะตลาดไม่เปิดโอกาสให้นักลงทุนใช้ประโยชน์จากกระจายความเสี่ยงเลย เพราะเกือบทุกสินทรัพย์ล้วนปักหัวลง เรียกได้ว่าไม่มีที่ให้หลบภัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นโลกที่ร่วงลงกว่า 8.7% หรือแม้แต่ตราสารหนี้โลกก็ยังให้ผลตอบแทนติดลบ 1.1% เช่นกัน จากสถิติที่รวบรวมโดยสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ในปี 2018 กว่า 90% ของสินทรัพย์สร้างภาระขาดทุน สวนทางกับปี 2017 โดยสิ้นเชิง ที่ราคาสินทรัพย์กว่า 99% เดินหน้าเขียวยกแผง

ปกติ ผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และน้ำมัน มักวิ่งคนละทางกับสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตร และทองคำ ทำให้การลงทุนแบบผสมผสานในหลายๆ สินทรัพย์ช่วยลดความเสี่ยงโดยรวม ด้วยหลักการที่เข้าใจกันได้ง่ายๆ คือ ถ้าราคาหุ้นลงขณะที่พันธบัตรขึ้นก็ช่วยประคองพอร์ตการลงทุนได้ แต่ในปี 2018 มีเพียงไม่กี่วันเท่านั้นที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม
 
อะไรเป็นสาเหตุของความผิดปกตินี้ จนกระทบต่อปรัชญาการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ประเด็นหลัก 2 เรื่อง ที่น่าจะใช้อธิบายความผิดเพี้ยนของตลาดในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีที่แล้วได้ ประเด็นแรกคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศอื่น การที่สหรัฐฯ ขยายตัวแข็งแกร่ง ไม่เพียงสะท้อนสู่การเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้น (ในช่วงแรก) แต่ผลักให้ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตร เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนโยบาย ขยับขึ้นเช่นกัน ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจอื่น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ต่างเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า เพิ่มภาระหนี้ให้กลุ่มประเทศเกิดใหม่ กระทบเป็นลูกโซ่ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เกิดเป็นแรงเทขายในสินทรัพย์ประเทศเกิดใหม่ 

ประเด็นถัดมาคือ เมื่อผ่านปีทอง 2017 นักลงทุนมีกำไรสะสมในพอร์ตการลงทุน พอเกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นักลงทุนเริ่มทยอยเทขายสินทรัพย์ ทำให้ความผันผวนของตลาดพุ่งขึ้น สถานะการลงทุนใน Hedge Fund บางประเภทขาดทุนหนัก ทำให้ตลาดตื่นตระหนกและกระตุ้นแรงเทขายเป็นวงกว้าง ราคาหุ้นตกต่ำ พร้อมๆ กับผลตอบแทนพันธบัตรพุ่งขึ้น (ราคาพันธบัตรและตราสารหนี้ต่างๆ ลดลง) บ่งชี้ภาวะตลาดขาลง ทำลายบรรยากาศการลงทุนโดยรวม ความไม่เชื่อมั่นนี้มีอยู่ต่อเนื่องตลอดถึงเดือนกันยายน ที่แม้แรงขายจะไม่มากเท่าช่วงแรก แต่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดพลิกกลับคืนเป็นบวกได้ชัดเจน จนในที่สุดความสั่นคลอนนี้ก็ย้อนกลับมาถึงตลาดทุนสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม จนถึงสิ้นปี 

เปิดต้นปี 2019 ด้วยความหวังว่าปีที่แล้วราคาสินทรัพย์ลดลงแรงเกินไปและ Fed มีท่าทีอ่อนลง ทำให้เราเห็นการพลิกฟื้นของตลาด แต่ความเสี่ยงหลักยังไม่หมดไป สิ่งที่นักลงทุนควรเฝ้าจับตาในปีนี้คือความเสี่ยงของการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed โดยเฉพาะความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่สอดคล้องกับภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การค่อยๆ ปรับพอร์ตเข้าสู่ความระมัดระวังมากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะแม้ Fed จะไม่พลาด แต่วัฏจักรเศรษฐกิจชะลอตัวกำลังใกล้เข้ามา

กลยุทธ์ที่น่าจะช่วยนักลงทุนฝ่าฟันความเสี่ยงได้ มีดังนี้

  1. เพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยหรือกลยุทธ์ที่ไม่พึ่งพาสภาวะตลาด เช่น ตราสารหนี้ระยะยาวในสกุลเงินประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีเสถียรภาพ ทองคำ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีกลไกบรรเทาหรือควบคุมความเสี่ยง
  2. ควรยึดการลงทุนในพอร์ตหลักที่กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะกองทุนที่ใช้ค่าความเสี่ยงของแต่สินทรัพย์เป็นเครื่องมือหลักในกระบวนการจัดและปรับพอร์ตลงทุน พิสูจน์จากผลงานในปี 2018 ที่กองทุนที่ใช้ความเสี่ยงในการจัดสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ขาดทุนเพียง 6.5% เทียบกับกองทุนที่จัดสัดส่วนแบบดั้งเดิมที่ขาดทุนโดยเฉลี่ย 10.2%

โดยทั่วไป ช่วงที่ตลาดเผชิญความผันผวนสูง นักลงทุนมักจะผสมผสานระหว่าง 2 กลยุทธ์ กล่าวคือลงทุนในพอร์ตหลักควบคู่ไปกับกลยุทธ์ที่ไม่พึ่งพาสภาวะตลาด ที่พร้อมจะโยกย้ายมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อเพิ่มผลตอบแทนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น จนความต้องการในการควบคุมภาระขาดทุนลดลง ความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นการลงทุนใดๆ จึงควรเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีสภาพคล่องสูงเพื่อให้สามารถปรับสัดส่วนได้อย่างรวดเร็ว


ประจำเดือน มีนาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING