Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

เศรษฐกิจโลกชะลอ ตลาดหุ้นผันผวน แต่ทำไม ดอกเบี้ยไทยยังปรับขึ้น?

เศรษฐกิจโลกชะลอ ตลาดหุ้นผันผวน แต่ทำไม ดอกเบี้ยไทยยังปรับขึ้น?

ส่งท้ายปลายปี 2018 ด้วยมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “กนง.” ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปี 2019 จาก 4.4% เป็น 4.2% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 7 ปี จากการประชุมรวมทั้งหมด 57 ครั้ง ซึ่งเหนือความคาดหมายของตลาด และการตัดสินใจนี้เกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วัน ก่อนหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เช่นกัน แต่เหตุการณ์หลังเป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้มาระยะหนึ่งแล้ว


ท่ามกลางความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวและภาวะอันสับสนอลหม่านในตลาดการเงิน ทั้งหุ้น พันธบัตร และอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนอาจสงสัยว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย หลังจากยืนคงที่ที่ระดับ 1.50% มาตั้งแต่ปี 2011 

เบื้องต้น กนง. แสดงความเห็นว่าระบบการเงินของไทยมีความจำเป็นน้อยลงในการพึ่งพานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากแบบช่วงที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และยังมีแรงส่งทั้งจากความต้องการภายในประเทศ  แม้การส่งออกไปต่างประเทศอาจชะลอจากเศรษฐกิจโลกและข้อพิพาททางการค้า เงินเฟ้อแม้จะขยับขึ้นแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเช่น  E-Commerce การแข่งขันราคา รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยี จะทำให้ต้นทุนลดลงและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นช้ากว่าในอดีต สภาพคล่องในระบบสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่ำ ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ โดยรวมแล้วภาวะการเงินอยู่ในระดับผ่อนคลาย มีเสถียรภาพ และยังเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป 

อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าสนใจคือ การขึ้นดอกเบี้ยถือเป็นการสร้างขีดความสามารถสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต กล่าวคือขึ้นดอกเบี้ยสะสมไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาลดเมื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง เสมือนการสะสมกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น เตรียมตัวให้พร้อมรองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่นับวันจะรุนแรงและซับซ้อนขึ้น นอกจากนี้ การขยับดอกเบี้ยขึ้นยังช่วยลดความเสี่ยงของการสะสมความเปราะบางในระบบ โดยเฉพาะจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงขึ้น ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และการลงทุนในโครงการที่มีความเป็นไปได้ต่ำ

คำถามถัดไปคือ ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อตามดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.หรือไม่? 

ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยทั้งในฝั่งเงินฝากและเงินกู้ แม้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว หรือมีแผนจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีกในอนาคต แต่ธนาคารจะประเมินจากสภาพคล่องในระบบมากกว่า ซึ่งปัจจุบันสภาพคล่องในระบบยังสูง ต่างจากอดีตที่ธนาคารมักขึ้นดอกเบี้ยในเวลาใกล้เคียงกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยเฉพาะช่วงที่สภาพคล่องตึงตัว และหากความเร็วของการปล่อยสินเชื่อเพิ่มยังไม่สูงมากนัก ธนาคารก็ไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจะมาพร้อมภาระหนี้ที่พอกพูน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกค้ารายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ธนาคารบางแห่งอาจพิจารณาทยอยปรับดอกเบี้ยในบางผลิตภัณฑ์ เช่น เงินฝากประจำพิเศษ หรือเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะเวลาค่อนข้างยาว เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง. มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกเพียงครั้งเดียวในช่วงปี 2019 และให้ความน่าจะปรับขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 มากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่น่าจะพอประเมินทิศทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินภายหลังการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ได้ รวมทั้งดูว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระดับใด และภาคเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถปรับตัวได้หรือไม่ 

แน่นอนว่าทิศทางดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อ เพราะรายได้หลักมาจากดอกเบี้ยการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีวิธีคิดแบบอัตราคงที่ ขณะที่ต้นทุนมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยแบบลอยตัว ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่และกลางไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เพราะผู้ประกอบการยังมีทางเลือกในการหาแหล่งเงินทุนอื่น ขณะที่กลุ่มธนาคารอาจได้รับผลกระทบทางบวกหากอัตราดอกเบี้ยสุทธิ หรือ Net Interest Margin (NIM) กว้างขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจของ กนง. ครั้งนี้ เป็นทั้งเกราะป้องกันความเสี่ยงของความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และการเตรียมเครื่องมือรับความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น นักลงทุนควรติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ทั้งของไทยและโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนการลงทุนอย่างรัดกุมในปี 2019 


ประจำเดือน มกรามคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING