Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

การลงทุนไม่เพียงสร้างกำไร...แต่ยังส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้โลกอนาคตได้

การลงทุนไม่เพียงสร้างกำไร...แต่ยังส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้โลกอนาคตได้

​​ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน รูปแบบการลงทุนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม (E-Environment) สังคม (S-Social) และหลักธรรมาภิบาล (G-Governance) เป็นที่กล่าวถึงกันอยู่บ่อยครั้ง แต่มักถูกตั้งคำถามถึงผลตอบแทน เพราะนักลงทุนมักเข้าใจว่ากิจการที่ใส่ใจ ESG จะมีต้นทุนสูง แล้วจะหากำไรมาตอบแทนผู้ถือหุ้นได้จากไหน

มาถึงวันนี้ พัฒนาการและบทพิสูจน์ของการลงทุนลักษณะนี้มีมากขึ้น จาก “ESG” สู่ “Positive Impact” และ “Sustainability” ที่ล้วนมุ่งการสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมไปพร้อมๆ กับตอบโจทย์ผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งแม้ ESG -> Impact -> Sustainability จะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่อยู่บนรากฐานเดียวกันที่ว่า ทุกหน่วยในสังคมต้องตื่นตัวและให้การสนับสนุนกิจการที่มุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อโลกที่น่าอยู่ถึงรุ่นลูกหลาน ส่งเสริมให้องค์กรและบุคลากรทำคุณงามความดี คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมรอบข้าง รวมถึงให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของเพื่อนมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดในสังคม เพื่อเพิ่มโอกาสการอยู่รอดและเติบโตอย่างยาวนาน เช่น กิจการที่สร้างนวัตกรรมของสินค้าและบริการ ตลอดจนกระบวนการทำธุรกิจที่ลดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การศึกษา การเข้าถึงสินค้าและบริการ มีความโปร่งใสและรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ลูกค้า และชุมชน จะได้รับการยอมรับและสนับสนุนจากผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแล ส่งให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว สะท้อนผ่านตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน เช่น Return on Equity (ROE) และ Return on Assets (ROA) เป็นที่น่าพอใจ

ผู้ขับเคลื่อนหลักในช่วงเริ่มต้นคงหนีไม่พ้นองค์กรใหญ่ๆ อย่างเช่น องค์การสหประชาชาติที่ได้จัดทำ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs-Sustainable Development Goals) เช่น ขจัดความยากจน อดอยาก สุขภาพดี การศึกษาที่มีคุณภาพ ความเท่าเทียมกันทางเพศ น้ำสะอาดและสุขาภิบาล และการใช้ทรัพยากรในมหาสมุทรอย่างยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนี้ภาครัฐหลายแหล่งในยุโรปออกกฎเกณฑ์ยอมรับเฉพาะการลงทุนในกิจการที่สอดคล้องกับความยั่งยืนของโลกเท่านั้น โดยการลงทุน ณ ปัจจุบันได้เพิ่มอีกมิติสำคัญคือนักลงทุนสามารถประเมินค่าผลกระทบของการลงทุนในกิจการต่างๆ ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม

หลายท่านอาจยังนึกไม่ออกว่าการประเมินค่าที่เป็นรูปธรรม และนักลงทุนมีส่วนร่วมอย่างไร ลองพิจารณาตัวอย่าง ดังนี้
 
1. การมีส่วนร่วมกับสังคมและการให้การศึกษา: การลงทุนในบริษัทสัญชาติอเมริกันยักษ์ใหญ่รายหนึ่งที่ออกแบบเครื่องมือสำหรับใช้ค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เปิดโลกให้คนทั่วไป ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดสถานที่และเวลา ได้อำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและการเรียนรู้ให้ผู้คนกว่า 2 พันล้านคนต่อเดือน เทียบเท่ากับประชากรในจีนและในสหภาพยุโรป 

2. ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรโลก: หนึ่งในบริษัทที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีและบริการด้านน้ำ สุขอนามัย และพลังงาน ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดและปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 134 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการเอารถ 29 ล้านคันออกจากถนน

3. การใส่ใจสุขภาพและคุณภาพการใช้ชีวิต: บริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนียรายหนึ่งได้เปลี่ยนการดูแลและการจัดการโรคเบาหวานให้เป็นเรื่องง่าย โดยการใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบระดับน้ำตาลอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสามารถจัดการโรคเบาหวานได้ดีขึ้น ให้การรักษาผู้ป่วย 620,000 ราย เทียบเท่าประชากรในเมืองลาสเวกัส 

4. การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส: สถาบันการเงินเช่นธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งของมาเลเซีย มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ ยกระดับความใส่ใจให้ผู้ด้อยโอกาส โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้คนกว่า 85 ล้านคน เข้าถึงบริการทางการเงิน คนจำนวนนี้เทียบเท่ากับประชากรในประเทศเยอรมนี

การให้ความสำคัญต่อการประเมินค่าผลกระทบในเชิงบวกที่สามารถวัดได้ และมีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมออกมาเป็นค่าตัวเลขที่จับต้องได้ มีการปรับเปลี่ยน ติดตาม และแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่สุด รวมถึงการทำรายงานเพื่อเผยแพร่เป็นประจำทุกปี แสดงถึงความรับผิดชอบที่กิจการเหล่านี้ไม่ได้พึงแต่ประโยชน์ของตนเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึงอนาคตส่วนรวม ทำให้ผู้ลงทุนสามารถรับรู้ถึงการเติบโตขององค์กรซึ่งจะนำไปสู่ผลตอบแทนที่ดีมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว


ประจำวันที่ 26 เมษายน 2562



กลับ
PRIVATE BANKING