Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

The New Era of ECB

The New Era of ECB

เมื่อสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี ได้บอกลาธนาคารกลางยุโรปหรือ ECB ในฐานะประธาน เพื่อส่งไม้ต่อให้ นางคริสติน ลาการ์ด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังฝรั่งเศสและอดีตผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้ารับตำแหน่งแทน ท่ามกลางหลากหลายความท้าทาย ทั้งการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เศรษฐกิจยูโรโซนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่น่าจะทำให้การดำรงตำแหน่งของนางลาการ์ดต้องเจอศึกหนักไม่น้อย การปรับเปลี่ยนหรือริเริ่มสร้างสรรค์หลักการทำงานรวมถึงเครื่องมือใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น


เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เราลองย้อนกลับไปดูนโยบายทางการเงินของ ECB ในสมัยของนายดรากีที่อยู่ในแนวโน้มผ่อนคลายมาตลอด เห็นได้จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทยอยลดลงจาก 0.75% จนปัจจุบันติดลบไปแล้วถึง -0.5% ผ่านการลดดอกเบี้ยรวมทั้งหมด 8 ครั้ง ในช่วงการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายดรากี (2011-2019) รวมถึงวลีเด็ดในปี 2012 ที่ระบุว่า “ECB จะทำทุกวิถีทาง เพื่อพยุงเศรษฐกิจยูโรโซนไว้ให้ได้" ซึ่งทำให้ตลาดคลายความกังวลได้ในทันทีในช่วงที่เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ตามมาด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่านมาตรการ QE ในปี 2015 โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วกว่า 2.5 ล้านล้านยูโร ก่อนมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2018 จนกลับมาประกาศใช้ QE รอบใหม่ พร้อมทั้งลดดอกเบี้ยนโยบายให้ติดลบต่ำกว่าเดิมในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองต่อมุมมองเศรษฐกิจยูโรโซนที่เปราะบาง


อย่างไรก็ดี ยิ่งนับวันประสิทธิภาพของมาตรการ QE และอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบของ ECB ยิ่งลดลงอย่างชัดเจน ทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกเริ่มสงสัยว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้อาจทำได้ยากขึ้น ซึ่งท่ามกลางดอกเบี้ยทั่วโลกที่ต่ำอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีก ไม่น่าจะสามารถสร้างความแตกต่างให้เศรษฐกิจกลับขึ้นมาขยายตัวและดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ หากพิจารณา GDP ไตรมาส 3 ของยูโรโซนที่ขยายตัวได้เพียง 0.2% QoQ รวมถึงประเทศที่ทรงอิทธิพลอย่างเยอรมันที่เพิ่งรอดพ้นจากการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจไปได้อย่างหวุดหวิด (GDP เยอรมันหดตัว 0.2% ในไตรมาส 2 แต่สามารถขยายตัวได้ 0.1% ในไตรมาส 3 ทำให้ไม่เข้าเกณฑ์ภาวะถดถอยที่จะต้องมีการหดตัวของเศราฐกิจ 2 ไตรมาสติดต่อกัน) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ 0.7% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% อยู่มาก นอกจากนี้ แม้ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจอันยาวนานของ ECB ภายใต้การนำของนายดรากีได้ช่วยให้ยูโรโซนหนีรอดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปได้ แต่ในทางกลับกันก็สร้างปัญหาเรื้อรังให้กับระบบธนาคารและสถาบันการเงินที่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยต่ำติดลบ กดดันกำไรสุทธิภาคธนาคารโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการสร้างช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสังคมให้สูงขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงปริมาณเงินทุนที่ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำอาจถูกจำกัดอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเครดิตในการกู้ยืมดี อันเป็นผลให้แนวคิดทางการเมืองแบบประชานิยม (Populism) หรือการเอาตัวเองมาก่อนตามแบบ ปธน.ทรัมป์ และ Brexit ได้รับความนิยมที่สูงขึ้นต่อเนื่อง


ต้องยอมรับว่าหน้าที่ของนางลาการ์ดต่อจากนี้ถือว่ามีความท้าทายสูงมาก หากมองไปยังเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจเดิมๆ ที่มีประสิทธิภาพลดลง มองไปที่ปัญหาทางสังคมและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็ดูจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ทางเดินไปข้างหน้าของยูโรโซนต้องมองหาเครื่องมือกระตุ้นใหม่ๆ แทนที่นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย คำตอบที่ดูจะเป็นไปได้คือ การร่วมมือผ่อนคลายนโยบายทางการคลังของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ และการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการลงทุนภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา รวมไปถึงด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น หน้าที่สำคัญของนางลาการ์ดคือ การใช้นโยบายการฑูตในการสร้างโครงสร้างความร่วมมือกันระหว่าง ECB และรัฐบาลประเทศต่างๆ ในยูโรโซน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคผ่านทั้งนโยบายทางการเงินและการคลัง ซึ่งไม่ยากจนเกินไปสำหรับนางลาการ์ดที่เป็นนักการเมืองมายาวนาน มีประสบการณ์ทางด้านการฑูตอย่างโชกโชนจากการดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส และอดีตผู้อำนวยการ IMF ซึ่งดูจะมีแต้มต่อด้านนี้มากกว่านายดรากีที่มีบทบาทเป็นนักเศรษฐศาสตร์มากกว่านักการเมือง


ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562


กลับ
PRIVATE BANKING