Display mode (Doesn't show in master page preview)
Turn on more accessible mode
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Turn off Animations

กระจายความเสี่ยงยังใช้ได้กับการลงทุนหรือไม่

กระจายความเสี่ยงยังใช้ได้กับการลงทุนหรือไม่


ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่ยากสำหรับนักลงทุน เพราะราคาทุกสินทรัพย์หลักๆ ของโลกพร้อมใจปักหัวลงสร้างภาระขาดทุนทั่วหน้า ต่างจากปีอื่นๆ ที่ยังพอมีสินทรัพย์บางประเภทเป็นหลุมหลบภัยได้บ้าง ปรากฏการร์นี้นับว่าขัดกับแนวคิดการลงทุนที่แนะนำกันไปทั่วโลก
 
ปกติ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวหรือเติบโต ตลาดหุ้นมักจะให้กำไรดี สวนทางกับพันธบัตรที่ราคาอาจลดลงจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงชะลอตัวหรือถดถอย ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลง แต่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรหรือทองคำควรจะปรับตัวขึ้น ภาพผลตอบแทนที่สวนทางกันนี้เรียกว่า Negative Correlation ซึ่งเป็นพื้นฐานสนับสนุนการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงที่ได้ผลดีเสมอมา แต่ในปี 2018 ทั้งหุ้น พันธบัตร หรือแม้แต่ทองคำกลับให้ผลตอบแทนติดลบที่ -9%, -1% และ -2% ตามลำดับ ซึ่งผิดปกติอย่างมาก จากสถิติย้อนหลัง 30 ปี พบว่า มีเพียง 2 ปี คือ ปี 2015 และ 2018 ที่ทั้งหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาล ติดลบพร้อมกัน
 
พิจารณาความเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั้งปี 2018 จะพบว่าความสัมพันธ์ที่สวนทางกันระหว่างหุ้นและพันธบัตรเกิดขึ้นเพียง 2 ช่วงหลักๆ เท่านั้น คือ เดือนมกราคม (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปี 2017 ขณะที่พันธบัตรปรับตัวลง) และกลางเดือนตุลาคมถึงสิ้นปี (ตลาดหุ้นปรับลงแรงจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ขณะที่ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้น) แปลว่าในปี 2018 มีระยะเวลาเกือบ 9 เดือน ที่การกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากทุกตลาดเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันคือปรับตัวลง หรือ Sideways นั่นเอง คำถามคือเกิดอะไรขึ้นในช่วง 9 เดือนนั้น 

คำตอบคือแนวโน้มเศรษฐกิจที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ โดยสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลของ ปธน.ทรัมป์ รวมถึงการเปิดสงครามการค้ากับจีนก็น่าจะส่งผลประโยชน์กับสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ และหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ ไม่รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป และญี่ปุ่นด้วย ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลโลกยังจะพบว่าความสัมพันธ์แบบสวนทางกันบ้าง

คำถามที่สำคัญกว่านั้น คือการมองไปข้างหน้าว่า ลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงกับปี 2019 มีแนวโน้มเช่นไร เหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2018 สืบเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2019 น่าจะสะท้อนว่า ปัจจุบันตลาดพุ่งเป้าไปที่ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจและสภาพคล่องทางการเงินของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะถดถอยลงในอนาคตอันใกล้ มุมมองต่อตลาดหุ้นดูซบเซาลง ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจกดดันให้ FED เปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินจากเข้มงวดเข้าสู่โหมดผ่อนคลายขึ้น เพื่อลดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไม่ให้เร็วและแรงเกินไป จากเมื่อเร็วๆ นี้ตลาดกลัวว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยมากไป กลายเป็นว่า ปัจจุบันตลาดมองโอกาสที่ FED อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ รวมทั้งพูดกันถึงความเป็นไปได้ที่ FED อาจจะลดดอกเบี้ยในปี 2020 อย่างหนาหูขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ Yield พันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีลดลงมาที่ 2.2-2.4% จากปัจจุบันที่ 2.7% ได้ เปิดทางให้ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นที่ซบเซา นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ยังมี ทำให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรและทองคำสูงขึ้นอีกด้วย

ในทางกลับกัน หากตลาดคลายความกังวลอย่างรวดเร็ว เพราะ FED มีท่าทีชัดเจนว่าที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว บวกกับข้อพิพาทการค้าจีน – สหรัฐฯ ที่อาจจะบรรลุข้อตกลงระยะยาวได้ ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสรีบาวน์แรง สัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็จะกลายเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก

โดยสรุป เศรษฐกิจโลกในปี 2019 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันมากขึ้น แตกต่างกับปี 2018 ที่สหรัฐฯโดดเด่นอยู่ประเทศเดียว เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มเห็นแนวโน้มการอ่อนแรงจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยมากว่า 9 ครั้งในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะปีล่าสุดที่ขึ้นถึง 4 ครั้ง และความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนในแต่ละสินทรัพย์น่าจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งหมายถึงโอกาสของผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะกลับมา

มีเพียง 2 ปีในรอบ 30 ปี ที่ทั้งหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาลโลกให้ผลตอบแทนติดลบ 




ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562



กลับ
PRIVATE BANKING