K WEALTH / บทความ / Product Review / ลงทุนฟิตพอร์ตด้วย RMF ช่วงใกล้เกษียณ 45+ ดีอย่างไร
03 ตุลาคม 2565
4 นาที

ลงทุนฟิตพอร์ตด้วย RMF ช่วงใกล้เกษียณ 45+ ดีอย่างไร


​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“

• กองทุน RMF เป็นทางเลือกลดหย่อนภาษีสำหรับวัย 45+ ขึ้นไปที่ต้องการซื้อกองทุนประหยัดภาษี แต่ไม่อยากรอนานถึง 10 ปี แบบกองทุน SSF


• นอกจากระยะเวลาถือหน่วยลงทุนน้อยกว่า 10 ปีแล้ว กองทุน RMF ยังมีข้อดีคือ เมื่อลงทุนครบเงื่อนไขสามารถขายคืนได้ทั้งก้อนที่ลงทุนมา มีข้อมูลผลการดำเนินงานให้เห็นมากกว่า และนโยบายการลงทุนหลากหลายกว่า จึงมีทางเลือกสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นได้มากกว่ากองทุน SSF



คนที่กำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี​ และมีอายุ 45+ ขึ้นไป หากมองว่าการซื้อกองทุน SSF ต้องลงทุนนานถึง 10 ปีกว่าจะขายคืนได้ มีวิธีที่ช่วยให้เราได้ลดหย่อนภาษีแบบที่ไม่ต้องรอนานมาฝาก รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ศึกษาได้จากบทความนี้



ลงทุนกองทุน RMF ช่วงใกล้เกษียณ วัย 45+ ดีอย่างไร

หากใครอายุ 45+ ขึ้นไป การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุน RMF เป็นวิธีที่ช่วยให้เราได้ลดหย่อนภาษีแบบที่ไม่ต้องรอนาน คือไม่ต้องรอถึง 10 ปี แบบกองทุน SSF ก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้แล้ว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น


- ระยะเวลาถือหน่วยลงทุนน้อยกว่า 10 ปี ซึ่งสั้นกว่ากองทุน SSF

เนื่องจากตอนขายคืนมีเงื่อนไขว่า ต้องลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี และอายุ 55 ปีบริบูรณ์ถึงจะขายได้ ดังนั้น หากใครอายุ 45+ ขึ้นไป ระยะเวลาถือหน่วยลงทุนจะน้อยกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ลงทุน ณ วันที่เริ่มลงทุนกองทุน RMF ครั้งแรก เช่น


นาย ก. เกิดวันที่ 1 ก.ย. 2519 ปัจจุบันอายุ 46 ปี ลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกวันที่ 1 ก.ย. 2565 เมื่อลงทุนครบตามเงื่อนไขคือ ลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว นาย ก. ก็สามารถขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดได้หลังวันที่ 1 ก.ย. 2574 คือหลังจากที่นาย ก. มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ เท่ากับถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเพียง 9 ปี ซึ่งระยะเวลาลงทุนจะสั้นกว่าการลงทุนซื้อกองทุน SSF ที่ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปีเต็ม นับแบบวันชนวัน


ทั้งนี้ หากเริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกหลังอายุ 46 ปี ระยะเวลาถือหน่วยลงทุนทั้งหมดจะลดลงไปเรื่อยๆ โดย 

     - เริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุ 47 ปี เท่ากับถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเพียง 8 ปี

     - เริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุ 48 ปี เท่ากับถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเพียง 7 ปี 

     - เริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุ 49 ปี เท่ากับถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเพียง 6 ปี 

     - เริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุ 50 ปี เท่ากับถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเพียง 5 ปี 


อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาถือหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขที่สั้นที่สุดคือ 5 ปี เท่ากับรออย่างน้อยแค่ 5 ปีเท่านั้น ก็สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้แล้วตามเงื่อนไขลงทุนต่อเนื่อง 5 ปี และอายุครบ 55 ปีแล้ว จึงสามารถขายคืนได้ ดังนั้น คนที่เพิ่งเริ่มลงทุนซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เท่ากับใช้เวลาถือหน่วยลงทุนสั้นที่สุดเพียง 5 ปี​


- ตอนขายคืน สามารถขายคืนได้ทั้งก้อนที่ลงทุนมา

เมื่อลงทุนจนครบเงื่อนไขสามารถขายคืนได้ทั้งก้อน แม้แต่ก้อนสุดท้ายที่เพิ่งลงทุนไป นั่นหมายความว่าก้อนหลังๆ ระยะเวลาลงทุนจะยิ่งสั้น โดยเฉพาะก้อนสุดท้ายถือว่าคุ้มมากเพราะได้ลดหย่อนภาษีแบบไม่ต้องถือหน่วยลงทุนนาน ซึ่งในวันที่เราอายุ 55 ปี ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนก็ได้ เกิดฉุกเฉินตอนอายุ 55 ถ้าซื้อกองทุน SSF ไว้จะขายคืนได้แค่ก้อนที่ครบเงื่อนไขแล้วเท่านั้น แต่ถ้าซื้อกองทุน RMF และลงทุนจนครบเงื่อนไข จะสามารถขายคืนเอาเงินออกมาได้ทั้งหมดเลย สามารถนำเงินตรงนี้มาใช้แก้ปัญหาได้ หรือใครอยาก early retire ก็นำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ได้เหมือนกัน ถ้ายังไม่อยาก early retire แต่จำเป็นต้องใช้เงินก้อน ก็นำเงินก้อนนี้ออกมาใช้ก่อน แล้วตั้งต้นลงทุนใหม่ เริ่มนับระยะเวลาลงทุนใหม่ตอนอายุ 55 ก็ได้ ทั้งนี้ หากใครเกษียณหลังอายุ 55 ปี ยังไม่แนะนำให้ขายคืนเพราะยังมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีอยู่ ให้ลงทุนต่อเนื่องจนกว่าจะเกษียณอายุแล้วค่อยขายคืน


- มีข้อมูลผลการดำเนินงานให้เห็นมากกว่า

เนื่องจากกองทุน RMF เป็นกองทุนที่เปิดมาก่อนกองทุน SSF โดยกองทุน RMF เปิดเสนอขายตั้งแต่ปี 2544 ส่วนกองทุน SSF เพิ่งเปิดเสนอขายเมื่อปี 2563 ดังนั้น กองทุน RMF จึงมีข้อมูลผลการดำเนินงานให้เห็นมากกว่า สามารถดูผลการดำเนินงานย้อนหลังกลับไปในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมาได้ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบและคาดการณ์อนาคตได้ด้วยเช่นกัน


- มีนโยบายการลงทุนหลากหลายกว่า

กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลายกว่ากองทุน SSF เรียกว่ามีเกือบทุกประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนเลยก็ว่าได้ ใครสนใจลงทุนในสินทรัพย์ไหน รับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ก็สามารถเลือกลงทุนได้ตามที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย มีกองทุน RMF ทั้งหมด 22 กองทุน และมีกองทุน SSF ทั้งหมด 6 กองทุน (ไม่รวมกองทุน SSFX) แบ่งเป็น



​ประเภทกองทุน
กองทุน RMF (22 กองทุน)
​กองทุน SSF (6 กองทุน) 
​ตราสารหนี้​
​KFIRMF, KGBRMF, KSFRMF
​K-FIXEDPLUS-SSF
​ผสม
​K2035RMF, K2040RMF, KBLRMF, KFLRMF, KGARMF, KPROPIRMF   
​K-GINCOME-SSF
​หุ้นไทย
​KEQRMF, KMSRMF, KS50RMF, KTHAICGRMF
​K-STAR-SSF  
​หุ้นต่างประเทศ
​KCHANGERMF, KCHINARMF, KEURMF, KJPRMF, KUSARMF, KVIETNAMRMF, KGHRMF, KGIFRMF
​K-CHANGE-SSF, K-CHINA-SSF, K-USA-SSF   
​ทรัพย์สินทางเลือก
​KGDRMF


จากตารางจะเห็นว่า กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนและสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนหลากหลายกว่ากองทุน SSF ยกตัวอย่างเช่น กองทุนผสม หากเป็นกองทุน RMF จะมีทั้งกองทุนผสมที่ลงทุนในไทย ต่างประเทศ และลงทุนในอสังหาฯ ส่วนกองทุน SSF จะมีกองทุนผสมเพียงแค่กองเดียวซึ่งลงทุนในต่างประเทศ


เมื่อกองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนหลากหลายกว่ากองทุน SSF จึงมีทางเลือกสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังสินทรัพย์อื่นได้มากกว่า หากลงทุนไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าสินทรัพย์ไหนเริ่มไม่ดี ก็มีทางเลือกมากมายให้เราสับเปลี่ยนไปหลบแดด หลบฝนในสินทรัพย์อื่นได้ เช่น เดิมลงทุนในกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไทย ต่อมาตลาดหุ้นผันผวนมาก ก็สามารถสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุน RMF ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ได้ และไม่มีค่าธรรมเนียมหากสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนภายใน บลจ.เดียวกันอีกด้วย


จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด หากใครอายุ 45+ ขึ้นไป และกำลังมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษี อยากให้นึกถึงกองทุน RMF เป็นลำดับแรก โดยศึกษาข้อมูลกองทุนจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ พิจารณาเลือกกองทุน RMF ที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด ทำความเข้าใจเงื่อนไขการลงทุน และปฏิบัติตามเงื่อนไขเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างเต็มที่



ทำความรู้จักกองทุน RMF และ SSF


     • กองทุน RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินเติบโตไว้ใช้ในวัยเกษียณ กองทุน RMF ทุกกองทุนจึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล


เงื่อนไขการลงทุนกองทุน RMF ได้แก่


     - ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับกองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 


     - ลงทุนต่อเนื่องทุกปี (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี ติดต่อกัน) จนถึงอายุ 55 ปีขึ้นไป และต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม - ไม่กำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่ต้องลงทุนต่อเนื่อง


     • กองทุน SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม เป็นการลงทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว มีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล 


เงื่อนไขการลงทุนกองทุน SSF ได้แก่ 


     - ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันชีวิตแบบบำนาญ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท 


     - ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปีเต็ม โดยนับจากวันที่ซื้อแบบวันชนวัน - ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น


     - ไม่กำหนดจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ


แนะนำกองทุน RMF ตามระดับความเสี่ยง


ระดับความเสี่ยง
ประเภทกองทุน
​กองทุนแนะนำ
นโยบายการลงทุน
​เสี่ยงต่ำ
​กองทุนตราสารหนี้
​KFIRMF
​ลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเงินฝากในประเทศ
​เสี่ยงปานกลาง
​กองทุนผสม
​KGARMF​
​ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชน
​​​
​ ​เสี่ยงสูง
​​​
​ ​กองทุนหุ้น
​KEQRMF
​ลงทุนในหุ้นไทย
​KCHINARMF
​ลงทุนในหุ้นจีน
​KVIETNAMRMF 
​ลงทุนในหุ้นเวียดนาม



Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 

     • บลจ.กสิกรไทย



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!