K WEALTH / บทความ / Market Update / ตามติดตลาดอเมริกา ยังน่าลงทุนจริงหรือ
21 กุมภาพันธ์ 2565
4 นาที

ตามติดตลาดอเมริกา ยังน่าลงทุนจริงหรือ


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุด (All Time High) ในช่วงปีที่ผ่านมา และปรับตัวลดลงแรงจากความกังวลการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง ในระดับ 0.50% (50 bps) และอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี 


• หุ้นเติบโตสูง (Growth Stock) โดยเฉพาะในกลุ่ม Communication Services และ IT ปรับตัวลงแรง จากความกังวลเรื่องผลประกอบการ

 

• บลจ.กสิกรไทย มีมุมมอง Neutral (ถือต่อ / ชะลอการลงทุนเพิ่ม) ดังนั้น สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯ สูง แนะนำให้ลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐฯลง ส่วนนักลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯน้อยหรือไม่มี แนะนำให้รอติดตามสถานการณ์การประชุม FED ในช่วงวันที่ 15-16 มี.ค. นี้

​​“


          ในช่วงปี 2564 ถือเป็นปีทองของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากทั้งตลาดหุ้น S&P 500 และ NASDAQ ทำจุดสูงสุด (All Time High) ที่ 4,766.19 จุด และ 16,057.44 จุด (ตามลำดับ) อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี มีการปรับลดลงแรง มีสาเหตุมาจากอะไร และนักลงทุนควรทำอย่างไร เรามา Update สถานการณ์หุ้นสหรัฐฯกัน

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ​​​​​

          หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้น และทำให้ทำสถิติสูงสุดได้ในปีที่ผ่านมา กลับปรับตัวลดลงแรงมาจาก 2 สาเหตุ คือ 
          1) กังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งไม่ได้มาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการขาดแคลนด้านอุปทาน (Shortage Supply) เช่น ราคารถยนต์มือสองปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนชิปในการควบคุมรถยนต์ ทำให้ระดับการผลิตรถยนต์มือแรกลดลง คนสหรัฐฯก็หันไปซื้อรถยนต์มือสองทำให้ราคารถยนต์มือสองปรับขึ้น เป็นต้น 
          2) กังวลการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นแรง และหลายครั้งในปี 2565 ถึงแม้ FED จะส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 65 แต่มีการคาดการณ์ว่าจะปรับในครั้งแรกสูงถึง 0.50% (50 bps) ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 0.25% (25 bps) 

          ทำให้หุ้นในกลุ่มที่มีอัตราเจริญเติบโตดี (Growth Stock) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Communication Services และ IT และเป็นสัดส่วนใหญ่ของพอร์ต K-USA ถูกกดดันด้านราคาแรง

เหตุผลที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังน่าสนใจในระยะยาว* ​​​​​

          ผลตอบแทนเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆย้อนหลัง 10 ปี ให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยตลาดหุ้นสหรัฐ ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณ 13% ห่างจากอันดับ 2 คือ ราคาบ้านที่เปลี่ยนแปลงราวๆ 5% ในระยะเวลา 10 ปี แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการลงทุนระยะยาวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะช่วยลดความเสี่ยงด้านราคาลงได้ 
          หุ้นสหรัฐ เป็นสัดส่วนหลักในการคำนวณดัชนี MSCI จากการคำนวณดัชนี MSCI แบ่งเป็นรายประเทศ จะพบว่า สัดส่วนหุ้นรายประเทศที่มีมากที่สุดในดัชนี MSCI คือ หุ้นสหรัฐ เป็นส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 50-60% แสดงให้เห็นว่า น้ำหนักในการลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับตลาดหุ้นสหรัฐ 
          ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯยังคงแข็งแกร่ง โดยดูจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่อง สะท้อนถึงพื้นฐานที่ดี ท่ามกลางแรงกดดันจากการระบาดของไวรัสทั่วโลก ​​



กองทุน K-USA ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน​​​​​

          หากมาดูสัดส่วนหุ้นสหรัฐที่กองทุนหลัก (Morgan Stanley Investment Management – U.S. Advantage) ลงทุน จะพบว่า จะมีสินทรัพย์ (หุ้น) ที่ทำให้กองทุนหลัก เป็นบวก (Top Contributors) และลบ (Top Detractors) ในไตรมาส 4/2564 ดังนี้ 

          กลุ่มสินทรัพย์(หุ้น)ที่ช่วยให้ผลตอบแทนกองทุนหลักเป็นบวก Top Contributors 
          Snowflake: ผู้ให้บริการข้อมูลด้านระบบคลาวด์ ที่ทำให้การบริหารระบบคลาวด์ทำได้สะดวกขึ้น ความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทเติบโตได้อย่างโดดเด่น 
          Datadog: ผู้ให้บริการข้อมูลด้านระบบคลาวด์ รายได้และกำไรเติบโตต่อเนื่อง หนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นโดดเด่น 
          Roblox: ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเกม และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่ม Mobile Gaming ได้เป็นจำนวนมาก 
          ASML Holding: ผู้ผลิตเครื่องมือการผลิตชิปชั้นนำของโลก ได้ประโยชน์จากการความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก 
          Royalty Pharma: รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง รวมถึงผู้บริหารมีมุมมองธุรกิจในอนาคตที่สดใส 

           กลุ่มสินทรัพย์ (หุ้น) ที่ช่วยให้ผลตอบแทนกองทุนหลักเป็นลบ Top Detractors 
          ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม Communication Services และ Information Technology ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลเรื่องรายได้การโฆษณาของ Facebook, Twitter และ Snap หลัง Apple ปรับนโยบายการเข้าถึงข้อมูลในiOS 
          Twitter: นักลงทุนกังวลเรื่องรายได้การโฆษณา และการลาออกของ Jack Dorsey CEO ซึ่งอาจกระทบต่อการบริหารธุรกิจในอนาคต 
          Snap: ปัจจัยหลักมาจากความกังวลเรื่องรายได้ค่าโฆษณา ทำให้รายได้ชะลอตัว 
          Block (เดิม Square Inc.): อัตราการเติบโตของรายได้เริ่มชะลอตัวลง หลังขยายตัวโดดเด่นในการระบาดช่วงแรกของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีความได้เปรียบสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และจะยังคงสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ให้บริการ Payment แบบเดิมๆได้ 
          Zoom Video Communication: รายงานรายได้ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนหลักมองว่า Zoom Phone จะมีการเติบโตได้โดดเด่นในอนาคต 
          Wayfair: รายได้ชะลอตัว YoY จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า รวมถึงต้นทุนด้านการขนส่งที่สูงขึ้น แต่ในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคมายัง E-Commerce จะหนุนการเติบโตของบริษัท ​​​



คำแนะนำการลงทุน ​​​​​

          บลจ.กสิกรไทย มีมุมมอง Neutral (ถือต่อ/ชะลอการลงทุนเพิ่ม) ต่อการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ แม้ดัชนีจะย่อตัวมาตั้งแต่ต้นปี แต่ Valuation โดยรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงสูงกว่าตลาดหุ้นอื่นๆของโลกอยู่พอสมควร และคาดจะยังมีความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ 
          • สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนหุ้นสหรัฐฯในสัดส่วนสูง: แนะนำลดน้ำหนัก แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแนวโน้มผลประกอบการ จะยังคงสนับสนุนการถือลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่คาดว่าความผันผวนจะเพิ่มขึ้นในช่วงแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นอัตราดอกเบี้ย ปรับลดวงเงินการซื้อสินทรัพย์และลดสภาพคล่องในตลาด 
          • สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนน้อย หรือยังไม่มี : แนะนำรอติดตามความชัดเจนของการสื่อสารจากธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุม 15-16 มี.ค. นี้ หากไม่ได้มีประเด็นที่เหนือความคาดการณ์ของตลาดมาก อาจพิจารณาทยอยสะสมในสัดส่วนที่ไม่สูงมาก เนื่องจากพื้นฐานโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี (แต่ระดับราคาค่อนข้างแพง) และตลาดหุ้นสหรัฐฯถือเป็นตลาดหุ้นหลักของโลกที่ควรมีในพอร์ตการลงทุน 

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
* KS for Fund EP.2: เจาะตลาด US หาธีมหุ้นร้อนแรงทะลุปัจจัยกดดัน 



​​.

บทความโดย K WEALTH GURU สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!