20 ธันวาคม 2564
3 นาที
ชี้ทิศทางการลงทุน เศรษฐกิจไทย 2565
“
• ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี เนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ มีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
• ปัจจัยที่ยังต้องเฝ้าระวังเพราะอาจกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาวะเงินเฟ้อ การปรับอัตราดอกเบี้ย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในประเทศ และความรุนแรงรวมไปถึงผลกระทบของโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8 - 3.7%
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดตั้งสมติฐาน แบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1) สายพันธ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธ์เดลต้าและวัคซีนที่ใช้กันทั่วโลกในตอนนี้ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในประเทศเป็นไปตามที่กำหนด ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้น ผู้ประกอบการโรงแรม การท่องเที่ยวกลับมาครึกครื้น 2) สายพันธ์โอไมครอนมีความรุนแรงพอๆกับสายพันธ์เดลต้าและวัคซีนที่ใช้กันทั่วโลกในตอนนี้ยังมีประสิทธิภาพลดน้อยลงอาจจะทำให้ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นและต้องล็อคดาวน์กันอีกครั้ง
“
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้าย 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จากเดิมมองที่ 0.2% (ในเดือน ก.ค. 64) มาอยู่ที่ 1% สาเหตุมาจากแรงหนุนจากการท่องเที่ยวหลังจากการเปิดประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเช้ามาเยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้จาก 180,000 คน อยู่ที่ 350,000 คน และอีกเหตุผลคือ GDP ไตรมาส 3 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสอดคล้องกับทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ประมาณการณ์ GDP ปี 2564 ไว้ที 1% เช่นกัน (ประมาณการ์ในช่วงเดือน พ.ย. 64 ที่ผ่านมา)
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ภาคการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีน และเนื่องจากมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ มีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปีมีทิศทางดีขึ้น และหนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ 1.0%
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดเศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและหนุนภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ 1.0% เช่นกัน
ทิศทางเศรษฐกิจปี 2565
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นส่งผลให้ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2565 เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว การส่งออกสินค้าไทยยังต้องพึ่งพาจีนสูงถึง 14% ของมูลค่าการส่งออกรวม หรือคิดเป็น 6% ของ GDP และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยต่อมาคือเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลมาจากกำลังการผลิตที่เร่งขึ้นแต่ไม่ทันและไม่เพียงพอติ่อความต้องการใช้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และภาวะเงินเฟ้อที่กระทบเป็นวงกว้างนี้ทำให้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเองยังไม่ฟื้นตัวก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน อีกปัจจัยนึงคือธนาคารกลางสหรัฐอาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการลงทุนต่างๆทั่วโลก และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่อาจจะยังมีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย หรือจากจำนวนและเส้นทางเที่ยวบินที่ลดลงอย่างมากทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการก็เป็นอีกปัจจัยที่กระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจได้
และอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดตั้งสมติฐาน แบ่งเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1) สายพันธ์โอไมครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธ์เดลต้าและวัคซีนที่ใช้กันทั่วโลกในตอนนี้ยังมีประสิทธิภาพเพียงพอ (ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีคุมโอไมครอนได้) ซึ่งจะส่งผลให้ไม่จำเป็นต้องมีการล็อคดาวน์ หรือปิดประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 3.7%, จำนวน นักท่องเที่ยวที่จะหลังไหลเข้ามาคาดการณ์อยู่ที่ 4,000,000 คน ราคาน้ำมันดิบขยับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 77 เหรียญต่อบาร์เรล และเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.1% 2) สายพันธ์โอไมครอนมีความรุนแรงพอๆกับสายพันธ์เดลต้าและวัคซีนที่ใช้กันทั่วโลกในตอนนี้ยังมีประสิทธิภาพลดน้อยลง (ประสิทธิภาพวัคซีนที่มีคุมโอไมครอนได้น้อยลง) หากเป็นไปตามนี้ก็อาจจะต้องมีการปิดประเทศ และกำหนดมาตรการต่างๆที่เข้มงวดในประเทศขึ้นอีกครั้งรวมไปถึงการล็อคดาวน์ จะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยย่อตัวลงมาอยู่ที่ 2.8%
โอกาสของนักลงทุน
ควรติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่องการระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดเพราะความเสี่ยงใหญ่ที่ต้องจับตาคือ ไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้ากลับมาระบาดครั้งใหญ่อีก คงกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน ทั้งนี้ตัวแปรหลักที่ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีหรือไม่ก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวเพราะถ้าคาดการณ์ตัวเลขที่กล่าวมานี้ผิดภาพเศรษฐกิจก็จะผิดเพี้ยนไปด้วย และต้องดูว่าประเทศจีนจะเปิดให้คนในประเทศเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้หรือยัง เพราะนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มหลัก 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวมาเดินทางมาประเทศไทย
เมื่อเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก แนะนำผู้ประกอบการวางแผนให้รัดกุมในการบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไรทั้งในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย และคนไทยเองที่ได้รับวัคซีนครบแล้วส่วนหนึ่งอาจเลือกไปท่องเที่ยวต่างประเทศแทน เพราะคาดการณ์ได้ว่าหลายประเทศจะใช้นโยบายดึงดูดการท่องเที่ยวเช่นกัน
ในมุมมองของการลงทุนนักลงทุนสามารถเพิ่มเงินสดรอไว้ในพอร์ตได้ เพราะหากตลาดมีการปรับฐานก็สามารถใช้โอกาสนี้เข้าซื้อในราคาที่ต่ำลง แนะนำเข้าถือกองทุนพักเงินระยะสั้น K-SFPLUS และสามารถใช้โอกาสช่วงตลาดย่อนี้เข้าลงทุนในจีนได้ ส่วนการลงทุนในภาวะผันผวนแบบนี้ก็ยังสามารถทำได้โดยแนะนำลงทุนในกองทุนรวมผสมเพื่อกระจายความเสี่ยง แนะนำกองทุน K-GINCOME ที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ทั้ง หุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ฯ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : KPB, K-RESEARCH, The Standard Wealth,
บทความโดย K WEALTH GURU พธพร รัตนสิโรจน์กุล