K WEALTH / บทความ / Wealth Management / Green Bond คืออะไร น่าลงทุนจริงหรือ
17 กุมภาพันธ์ 2565
4 นาที

Green Bond คืออะไร น่าลงทุนจริงหรือ


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• Green Bond ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม คือ การระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 

• ผู้ออก Green Bond ได้ประโยชน์จากการดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ที่เป็นคนอายุน้อย ช่วยยกระดับภาพลักษณ์องค์กร สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้ลงทุน Green Bond ได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจและพึงพอใจที่รู้ว่าเงินลงทุนถูกนำไปใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยตรง 

• ก่อนตัดสินใจลงทุนควรเช็กอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของหุ้นกู้ ผลตอบแทน ระยะเวลาในการลงทุน และประเภทของหุ้นกู้ รวมถึงคุณสมบัติของผู้ลงทุนและจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำว่าเหมาะกับผู้ลงทุนหรือไม่

​​“


          เทรนด์รักษ์โลกยังคงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและพยายามช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา ซึ่ง Green Bond ถือเป็นเครื่องมือการลงทุนอย่างหนึ่งที่เข้ามาตอบโจทย์การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สำหรับใครที่ยังไม่ทราบว่า Green Bond คืออะไร ช่วยสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร หากสนใจลงทุนต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองมาทำความรู้จักให้มากขึ้นจากบทความนี้กัน

ทำความรู้จัก Green Bond ​​​​​

          Green Bond ถือเป็นส่วนหนึ่งของ ESG Bond ซึ่งประกอบด้วย
          - Green Bond ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย การคมนาคมสะอาด 
          - Social Bond ตราสารหนี้เพื่อสังคม เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เช่น บริการสาธารณสุข ส่งเสริมการศึกษา จัดหาอาชีพ สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย 
         - Sustainability Bond ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เป็นการระดมทุนเพื่อนำเงินไปใช้พัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบทั้งในส่วนของ Green และ Social



ผู้ออก Green Bond คือใคร และได้ประโยชน์อะไร​​​​​

          ผู้ออก Green Bond ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือสถาบันการเงิน ที่ต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วนหรือทั้งหมดไปใช้ในการลงทุนหรือรีไฟแนนซ์ในโครงการใหม่หรือโครงการเดิมซึ่งเป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม 
          ประโยชน์ที่ผู้ออก Green Bond จะได้รับ ได้แก่ 
          - ช่วยดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นนักลงทุนอายุน้อยที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม 
          - ช่วยยกระดับภาพลักษณ์ขององค์กรและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน 
          - ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุญาตและการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย (filing) สำหรับตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม 

          ทั้งนี้ ผู้ออก Green Bond อาจมีกระบวนการและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการออกตราสารที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป เช่น การจ้างผู้สอบทานจากภายนอก



ผู้ลงทุน Green Bond คือใคร และได้ประโยชน์อะไร​​​​​

          ผู้ลงทุน Green Bond ได้แก่ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่ หรือนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่า Green Bond ที่ออกมานั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะเสนอขายให้กับใคร
          ประโยชน์ที่ผู้ลงทุน Green Bond จะได้รับ ได้แก่ 
          - ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ 
          - ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งภาครัฐในบางประเทศมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน 
          - ได้รับความพึงพอใจจากการที่รู้ว่าเงินลงทุนของเราถูกนำไปใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยตรง 

          แม้ว่า Green Bond อาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงสุด โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยน้อยกว่าหุ้นกู้ทั่วไปเล็กน้อยประมาณ 14.6 basis point หรือเท่ากับ 0.146% แต่ Green Bond จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีรายได้และรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆ กัน



การออก Green Bond ในไทย

          จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การออก Green Bond ในไทยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา มีมูลค่ารวม 85,300 ล้านบาท จาก 11 บริษัท คิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด และมากกว่า 50% ออกโดยบริษัทในกลุ่มพลังงาน ซึ่งประเมินว่าไทยต้องการเงินลงทุนในภาคพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 25% ภายในปี 2573 
          ขอยกตัวอย่างการออก Green Bond ของบริษัทในไทย 
          - บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ จำนวน 4 ชุด เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย. 64 รวมมูลค่า 10,200 ล้านบาท โดยนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ-ใต้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลช​นที่ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาด และลดการใช้รถยนต์ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยบริษัทประสบความสำเร็จในการออก Green Bond เป็นอย่างดี มีผู้ลงทุนให้ความสนใจมากกว่ามูลค่าที่เสนอขายถึง 2 เท่า 
          - บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้ออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จำนวน 3 ชุด เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 63 รวมมูลค่า 5,000 ล้านบาท โดยนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste-to-Energy) ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Finance Framework) ของบริษัท ซึ่งประสบความสำเร็จในการออก Green Bond เป็นอย่างมาก มีผู้ลงทุนให้ความสนใจมากกว่ามูลค่าที่เสนอขายถึง 6 เท่า ​​



สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนลงทุน ​​​​​

          หากใครสนใจลงทุนใน Green Bond สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนลงทุน ได้แก่ 
          - ติดตามข่าวสารการออก Green Bond ได้จากเว็บไซต์ ก.ล.ต. https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Viewmore/new-debt ​
          - เช็กเงื่อนไขหรือคุณสมบัติของผู้ลงทุนว่าสามารถลงทุนใน Green Bond ที่สนใจได้หรือไม่ และจำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำอยู่ที่เท่าไหร่ 
          - เช็กอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของหุ้นกู้ ผลตอบแทน ระยะเวลาในการลงทุน และประเภทของหุ้นกู้ว่าเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิไหม มีหลักประกัน หรือมีสิทธิแฝงหรือไม่ เหมือนตอนที่เราเลือกหุ้นกู้ทั่วไป ก่อนตัดสินใจลงทุน 
          ทั้งนี้ เนื่องจาก Green Bond ไม่ได้มีเสนอขายบ่อยๆ ผู้ลงทุนที่สนใจอาจเลือกลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไปของบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG โดยดูจากคะแนน CG Score ของบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่อยู่สูงในระดับ 5 ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. เป็นอีกทางเลือก 
          Green Bond ถือเป็นโอกาสการระดมทุนขององค์กรที่ต้องการนำเงินไปใช้ในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจของผู้ลงทุนที่ใส่ใจและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ แถมยังภูมิใจด้วยว่าตัวเองได้มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น 

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : 
KResearch Econ Digest : Green Bond ตราสารหนี้เพื่อโลกสีเขียว โอกาสในการระดมทุน ที่ตอบโจทย์เทรนด์ลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/GreenBond-FB-31-01-22.aspx 
KResearch Econ Digest : Green Bond ตราสารหนี้เพื่อโลกสีเขียว โอกาสในการระดมทุน ที่ตอบโจทย์เทรนด์ลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/BIZ-GreenBond-03-02-22.aspx​



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​หุ้นกู้ / พันธบัตร​

ดูเพิ่มเติม