K WEALTH /
บทความ /
Wealth Management / รู้จัก ดอกเบี้ยขั้นบันได ก่อนตัดสินใจ
08 ธันวาคม 2564
3 นาที
รู้จัก ดอกเบี้ยขั้นบันได ก่อนตัดสินใจ
“
● ดอกเบี้ยขั้นบันไดมีวิธีการคำนวณดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แตกต่างจากดอกเบี้ยทั่วไป โดยดอกเบี้ยเฉลี่ยที่คำนวณได้จะน้อยกว่าการคำนวณดอกเบี้ยเฉลี่ยแบบง่าย
● เมื่อรู้ดอกเบี้ยเฉลี่ยแล้ว อย่าลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยนำดอกเบี้ยเฉลี่ย x 0.85 เพื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยสุทธิ
“
พันธบัตร/หุ้นกู้ เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ซึ่งผลตอบที่ได้จะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป สำหรับดอกเบี้ยที่จ่ายจากพันธบัตร/หุ้นกู้จะมีหลายแบบ หลายชนิด หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าจ่ายดอกเบี้ย ไม่เท่ากัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจริงๆ แล้ว เราได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่กันแน่ หรือมีคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยยังไง บทความนี้มีคำตอบ
ทำความรู้จักพันธบัตร/หุ้นกู้
พันธบัตร/หุ้นกู้ คือตราสารหนี้ที่ผู้ออกตราสารขอกู้ยืมเงินจากนักลงทุน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ออกตราสารซึ่งเป็นลูกหนี้ และผู้ลงทุนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ โดยพันธบัตรเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนหุ้นกู้ออกโดยบริษัทเอกชน ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ยกเว้น ชนิดไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือมีสิทธิแฝง ซึ่งการจ่ายดอกเบี้ยมีหลายรูปแบบ เช่น แบบคงที่ ขั้นบันได ลอยตัว และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ ในมุมของความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร พันธบัตรรัฐบาลจะไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพราะตราสารที่ออกจากภาครัฐมีความน่าเชื่อถือสูงอยู่แล้ว แต่หุ้นกู้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ระดับ AAA จนถึง D โดยหุ้นกู้ที่สามารถลงทุนได้จะอยู่ที่ระดับตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป
ลักษณะการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ กับ ดอกเบี้ยไม่คงที่
การจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ กับ แบบไม่คงที่ มีความแตกต่างกัน ดังนี้ - ดอกเบี้ยคงที่ เป็นการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ โดยจะจ่ายเท่ากันทุกปีตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น
จ่ายดอกเบี้ย 2% ต่อปี คงที่ 5 ปี ชำระดอกเบี้ยปีละครั้ง เท่ากับว่าผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 2% เป็นเวลา 5 ปี โดยจ่ายดอกเบี้ยให้ปีละ 1 ครั้ง
- ดอกเบี้ยไม่คงที่ เช่น เป็นขั้นบันได โดยจะมีการจ่ายดอกเบี้ยแบบทยอยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตัวอย่าง
ปีที่ 1-3 : 1% ต่อปี
ปีที่ 4-5 : 5% ต่อปี
ชำระดอกเบี้ยปีละครั้ง
เห็นแบบนี้แล้ว อย่าเพิ่งเอาดอกเบี้ยในแต่ละปีมาบวกกันแล้วหารจำนวนปี คือ 1+1+1+5+5 แล้วหาร 5 = 2.6% ต่อปี เพราะการคำนวณดอกเบี้ยเฉลี่ยวิธีนี้จะได้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แท้จริงซึ่งอยู่ที่ 2.54% ต่อปี แล้วต้องคำนวณอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยยังไง ลองมาดูวิธีคำนวณอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยกัน
จะเห็นว่าเงินที่ผู้ลงทุนได้รับในแต่ละปีจะไม่เท่ากัน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่แท้จริงจึงอยู่ที่ 2.54% ต่อปี
ดอกเบี้ยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่คำนวณได้ยังไม่ใช่ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจริง เนื่องจากยังไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ดังนั้น เมื่อทราบอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยแล้ว อย่าลืมหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ก่อน โดยนำอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย x 0.85 เพื่อคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยสุทธิ เช่น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.54% ต่อปี เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้ว จะได้รับอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.16% ต่อปีนั่นเอง
ช่องทางการจองซื้อพันธบัตร/หุ้นกู้
สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้ สามารถจองซื้อพันธบัตร/หุ้นกู้ได้ 2 ช่องทางด้วยกันคือ - ผ่านเว็บไซต์ K-My Invest ได้ที่ www.kasikornbank.com/Kmyinvest
- ผ่านสาขาธนาคารกสิกรไทย
คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในพันธบัตร/หุ้นกู้
- ศึกษาข้อมูล เงื่อนไขของตราสารหนี้และบริษัทที่ออกตราสารหนี้ว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ก่อนตัดสินใจลงทุน - เลือกลงทุนให้เหมาะกับเวลาระยะเวลาที่สามารถลงทุนได้ เนื่องจากแม้ผู้ลงทุนจะสามารถขายคืนก่อนครบกำหนดอายุ ไถ่ถอนได้ โดยจะต้องติดต่อธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้ติดต่อหาผู้รับซื้อให้ แต่ตลาดอาจไม่มีสภาพคล่อง ทำให้ขายไม่ได้ในทันที และอาจขายไม่ได้ราคาเท่ากับที่ซื้อมาหรือไม่ได้ราคาตามที่ต้องการก็ได้
พันธบัตร/หุ้นกู้ ถือเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ หากลงทุนอย่างเข้าใจ ทั้งลักษณะ เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยง
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®