K WEALTH / บทความ / Wealth Management / เรื่องต้องรู้ ของคนมีประกันโควิด 'เจอ จ่าย จบ'
02 ธันวาคม 2564
3 นาที

เรื่องต้องรู้ ของคนมีประกันโควิด 'เจอ จ่าย จบ'


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• จากการระบาดของ โควิด-19 ทำให้หลายๆคนหันมาป้องกันตนเองด้วยการซื้อประกันโควิดโดยเฉพาะแบบ เจอ จ่าย จบ ซึ่งการระบาดรอบที่ 3 นี้ส่งผลให้ยอดเบี้ยประกันสะสมรวมหมื่นกว่าล้านบาท แต่ยอดเคลมสินไหมพุ่งสูงถึงสามหมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้บางบริษัทประกันภัยเกิดปัญหาสภาพคล่องจนต้องยุติการให้บริการไปเลยก็มี 


• คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออกประกาศและแนวทางในการกำกับดูแลเพิ่มเติมรวมถึงใช้กลไกที่มีอยู่ในการดูแลทั้งบริษัทประกันภัยที่จะถูกดูแลโดยกองทุนประกันวินาศภัย และฝั่งผู้ซื้อกรมธรรม์ที่จะมีสิทธิในการยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอจากบริษัทประกันภัยในการยกเลิกกรมธรรม์ ทั้งนี้ควรศึกษารายละเอียดของข้อเสนออย่างละเอียด และตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะทำอย่างไรต่อไป

​“


          การแพร่ระบาดของ โควิด-19 แพร่หลายเป็นวงกว้างส่งผลให้ทุกวันนี้ยังคงมียอดผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ ส่วนคนที่ยังไม่ติดเชื้อก็เพิ่มความระมัดระวังด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) กินร้อนช้อนกลาง สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาด ดูแลควบคุมสุขอนามัยในบ้าน เป็นต้น ภายใต้สถานการณ์ที่เชื้อไวรัสนี้ยังไม่หายไปโดยง่ายมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด รวมถึงจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มยังไม่มากนัก การบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันโควิดจึงอาจเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งประกันโควิดนี้แบ่งออกเป็น 1) เจอ จ่าย จบ คือผู้ทำประกันจะได้รับความคุ้มครองเมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 2) แบบมีค่ารักษาพยาบาล คือผู้ทำประกันจะได้รับความคุ้มครองหากต้องเข้ารับการรักษาซึ่งปัจจุบันประกันโควิดหลายแห่งครอบคลุมเรื่องการแพ้วัคซีนแล้ว 3) อื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา เช่น คุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ชดเชยรายวัน เป็นต้น

          จากยอดผู้ติดเชื้อในไทยที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะหลักหมื่นคนต่อวันในปี 2564 นี้ สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงประกันภัย ด้วยสถิติการซื้อประกันโควิด-19 สูงถึง 40 ล้านฉบับ เกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทย และด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 1.78 ล้านคน (ณ 20 ตุลาคม 2564) หรือคิดเป็นประมาณ 2.5% ของจำนวนประชากรในประเทศ โดยเฉพาะยอดของการเคลมประกันโควิดแบบ เจอ จ่าย จบ สูงถึง 30,000 ล้านบาท ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณอันตรายมาก เพราะตามกฎหมายการรับเสี่ยงภัยใดภัยหนึ่งต้องไม่เกิน 10% ของระดับเงินกองทุน ทำให้บริษัทประกันภัยหลายบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง จนมีโอกาสต้องยกเลิกการให้บริการประกันโควิดแบบเจอจ่ายจบ

สิทธิของคนมีประกันโควิด ‘ เจอ-จ่าย-จบ ’​​​​​​​

​​​​​​​​​​​​

         ฟังดูแล้วก็เกิดคำถามว่าบริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดที่ลูกค้าซื้อไปแล้วได้จริงหรือไม่ ถ้ามองในมุมของผู้เอาประกันหรือลูกค้าแน่นอนว่าต้องตกใจและสับสนว่าควรทำอย่างไรต่อไปดี ส่วนในมุมของผู้ให้บริการหรือบริษัทประกันภัยที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายตรงส่วนการเคลมกับสินไหมทดแทนนี้ไม่ไหว ก็ย่อมต้องการทางออกเพื่ออยู่รอดเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้ออกประกาศและแนวทางในการกำกับดูแลเพิ่มเติมรวมถึงใช้กลไกที่มีอยู่ในการดูแลทั้งฝั่งผู้ซื้อกรมธรรม์ และบริษัทประกันภัย ในส่วนของบริษัทประกันภัยจะถูกดูแลด้วยกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 78 ที่จะช่วยดูแลลูกค้าของบริษัทประกันที่ยุติกิจการ ทั้งที่ยังไม่ยื่นเคลมประกันและอยู่ระหว่างการยื่นเคลม ในส่วนของผู้ถือกรรมธรรม์ประกัน โควิด-19 จะมีสิทธิดังนี้คือบริษัทประกันจะไม่มีสิทธิยกเลิกกรมธรรม์ของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือกรมธรรม์เท่านั้น ขยายความคือในเบื้องต้นบริษัทประกันภัยอาจติดต่อผู้เอาประกันภัยมาทางโทรศัพท์หรือข้อความเพื่อแจ้งเสนอสิทธิที่จะได้รับหากยินยอมให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขยกเลิกกรมธรรม์ แต่จะไม่สามารถทำได้หากผู้เอาประกันไม่ยินยอม​​

คนมีประกันโควิด ‘ เจอ-จ่าย-จบ ’ ควรทำอย่างไรเมื่อได้รับข้อเสนอจากบริษัทประกัน​​​

​​​​​​​​​​​​

         หากได้รับข้อเสนอไม่ว่าจะช่องทางใดจากบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับการยกเลิกกรมธรรม์ประกัน โควิด-19 แนะนำปฏิบัติดังนี้

          1) ศึกษารายละเอียดและทำความเข้าใจในทุกข้อเสนออย่างกระจ่าง ตัวอย่างข้อเสนอ เช่น ให้สิทธิเปลี่ยนกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ฉบับใหม่โดยผู้เอาประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับเดิม ซึ่งบริษัทจะออกฉบับใหม่โดยให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่า ของวงเงินจากการเจ็บป่วยด้วยภาวะที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งหากข้อเสนอเป็นที่น่าสนใจผู้เอาประกันภัยก็แจ้งกลับไปยังบริษัทประกัน 

          2) หากไม่สนใจข้อเสนอของบริษัทประกันภัย ก็สามารถปฏิเสธหรือไม่ตอบรับใดๆ ที่สำคัญคือถึงแม้เราจะไม่ยอมรับข้อเสนอแต่สิทธิต่างๆ ที่จะได้รับในฐานะผู้เอาประกันภัยจากประกันโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ยังมีอยู่ และหากบริษัทประกันภัยถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้วหากผู้เอาประกันภัยยังไม่มีการเคลมหรือยื่นขอสินไหมทดแทนก็จะได้คืนค่าเบี้ยตามสัดส่วนเวลาที่เหลืออยู่ แต่ถ้าอยู่ระหว่างยื่นขอสินไหม กองทุนวินาศภัยจะเข้ามาช่วยเหลือโดยจะชดเชยเงินตามสิทธิที่ผู้เอาประกันภัยควรได้รับโดยเมื่อรวมกับที่ได้รับจากผู้ชำระบัญชีไม่เกิน 1 ล้านบาท 

          แต่ในชีวิตจริงไม่ได้มีแค่โรคระบาด โควิด-19 เท่านั้น ยังมีอีกหลายโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้เราต้องเสียค่ารักษา หรืออีกมุมหนึ่งคือต่อให้เราไม่มีประกันโควิด ก็ควรมีประกันสุขภาพ​ติดตัวไว้อย่างน้อยหนึ่งกรมธรรรม์ เพื่อเป็นตัวช่วยยามฉุกเฉินอีกทั้งยังสามารถเลือกได้ว่าจะรับความคุ้มครองเฉพาะค่ารักษาหรือเลือกแบบมีค่าชดเชยรายวันได้อีกด้วย 

ขอบคุณข้อมูลจาก : KResearch, Prachachat ​​


บทความโดย K WEALTH GURU พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

คุ้มครองอย่างเหนือระดับ ครอบคลุมทั่วโลก
ดูเพิ่มเติม

​ประกันชีวิตและสุขภาพ ป่วยมีจ่าย​​

ดูเพิ่มเติม

​ป่วยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม มีไว้เสริมจากสวัสดิการที่มี​

ดูเพิ่มเติม