K WEALTH / บทความ / Product Review / ติดโควิด-แม้ไม่นอนโรงพยาบาลก็เบิกได้
10 กันยายน 2564
2 นาที

ติดโควิด-แม้ไม่นอนโรงพยาบาลก็เบิกได้


​​" 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอกับความต้องการในการรักษา จึงมีการนำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชนมาใช้ แนวทางการรักษาที่ว่านี้คืออะไร หากเราติดโควิด-19 แล้วต้องรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน ประกันสุขภาพที่มีอยู่จะเบิกค่ารักษาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ แบบไหนถึงเรียกว่าเข้าเงื่อนไข มาเช็กรายละเอียดไปพร้อมกัน​ 

"​


​การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation และ Community Isolation คืออะไร


          การดูแลรักษาแบบ Home Isolation หมายถึง การให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยรายนั้นสามารถแยกกักตัวในที่พักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและเจ้าของสถานที่ รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยรักษาในหน่วยบริการ และกลับมาแยกกักตัวในที่พักต่อจนครบกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

          การดูแลรักษาแบบ Community Isolation ความหมายคล้ายกับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation แต่เป็นการแยกกักตัวในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด ทั้งผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือกลับมาดูแลรักษาต่อจากโรงพยาบาลจนครบกำหนด โดยจัดให้มีพื้นที่เอกเทศในชุมชนสำหรับแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ ซึ่งได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและเจ้าของสถานที่ในการจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด​

​ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation หรือไม่​​

           สำหรับคนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว หากติดโควิด-19 แล้วต้องรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษา เพราะทางเมืองไทยประกันชีวิต ได้ขยายความคุ้มครองสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation และแบบ Community Isolation ทั้งในส่วนของสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพรายบุคคลและประกันสุขภาพรายกลุ่ม โดยให้ความคุ้มครองจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เรียกว่า แม้ติดโควิด แต่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลก็สามารถเบิกค่ารักษาจากประกันสุขภาพได้เช่นกัน​ 

​แบบไหนถึงได้รับความคุ้มครองเมื่อเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation​​​

          1. เป็นผู้ป่วยลงทะเบียน Home Isolation หรือ Community Isolation ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 
          2. มีสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพรายบุคคล หรือประกันสุขภาพรายกลุ่ม แบบผู้ป่วยใน (IPD) หรือผู้ป่วยนอก (OPD) หรือแบบค่าชดเชยรายวัน (HB) ที่มีผลบังคับตามเงื่อนไขของกรมธรรม์กับบริษัทฯ​เช่นกัน​ 

เงื่อนไขความคุ้มครองการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation เป็นอย่างไร​​​

ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก (OPD) 
          ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย 

ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) 
          อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่ 
               • ค่าแพทย์ตรวจรักษา (ค่าแพทย์ Telemedicine) 
               • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) 

ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) และมีผลประโยชน์ผู้ป่วยนอก (OPD) 
           อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองในส่วนของผลประโยชน์ OPD ก่อน และถ้ามีส่วนเกินจากผลประโยชน์ OPD บริษัทจะจ่ายต่อในผลประโยชน์ IPD ได้แก่​
               • ค่าแพทย์ตรวจรักษา (ค่าแพทย์ Telemedicine) 
               • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์) 

ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน (HB) 
              จ่ายค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน ตามความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์แนวทางที่สาธารณสุขกำหนด แต่ไม่สามารถหาเตียงหรือไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยจ่ายไม่เกิน 14 วัน​​​​​ 

เอกสารที่ใช้ในการเรียกร้องผลประโยชน์มีอะไรบ้าง​

          1. ใบรายงานผลตรวจ RT-PCR หรือ ใบรายงานผลตรวจ Antigen Test Kit จากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ตรวจเชื้อโควิด-19
          2. ใบเสร็จรับเงินฉบับจริงที่แสดงค่าใช้จ่ายจากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐ 3. ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยสถานพยาบาลที่ให้บริการ Home Isolation หรือ Community Isolation แก่ผู้เอาประกันภัยที่ระบุรายละเอียดโรคและการรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19​ 

          สำหรับคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ ในสถานการณ์เช่นนี้อยากให้ลองมองหาประกันสุขภาพสักฉบับไว้เพื่อความอุ่นใจ แต่หากยังไม่พร้อมทำประกันสุขภาพ​ตอนนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคมเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับ สปสช. รวมถึงจ่ายค่าอุปกรณ์สำหรับการรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation อีกด้วย​

คำเตือน: โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

ที่มา: ขอบคุณข้อมูลเรื่อง “ไขข้อข้องใจ Home & Community Isolation แบบไหนเข้าเงื่อนไขบ้าง” จากเมืองไทยประกันชีวิต 


บทความโดย K WEALTH GURU สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT™
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!