เมื่อพูดถึงการเก็บเงินเกษียณ หลายคนมักจะบอกว่าอีกตั้งนานกว่าจะเกษียณ เอาไว้ก่อนละกัน แล้วเวลาก็ล่วงเลยไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็ใกล้จะเกษียณแล้ว ซึ่งไม่มีทางที่จะเก็บเงินได้ทัน ต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างยากลำบากและเจอกับเหตุการณ์น่าสลด “เงินหมดก่อนเวลา” หากใครไม่อยากเจอกับเหตุการณ์นี้ต้องทำอย่างไร และมีแนวทางในการออมหรือลงทุนอย่างไรให้มีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ บทความนี้มีคำตอบ
คนไทยมีเงินไม่พอเกษียณ
รู้หรือไม่ ปัจจุบันไทยก้าวผ่านสังคมสูงอายุเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้วซึ่งเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอดในปี 2572 ซึ่งเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด เร็วขึ้นกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574 หลังประชากรไทยเริ่มมีจำนวนลดลง 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2563-2565 และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ คนไทยมีเงินไม่พอเกษียณ
จากข้อมูลของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ” (NRRI) เพื่อหาเครื่องมือวัดระดับความพร้อมหรือไม่พร้อมของคนไทยหลังเกษียณในปี 2565 พบว่า ตัวเลขความพร้อมด้านการเงินค่าเฉลี่ยของประเทศมีความพร้อมต่ำกว่า 40% ในขณะที่ความพร้อมด้านสุขภาพกลับอยู่ในระดับที่สูงกว่าด้านการเงิน และเมื่อพิจารณาผลสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเรื่องนี้ในปี 2567 พบว่า คนไทย 30% ไม่มีเงินเก็บสำหรับการเกษียณเลย และ 60% มีเงินเก็บ แต่ไม่ถึง 200,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ชี้ให้เห็นว่าคนไทยที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงินเพื่อการเกษียณมีจำนวนมากขึ้น
ทำไมต้องเก็บเงินเกษียณตอนนี้
คนทำงานวัยหนุ่มสาวคงเกิดคำถามว่า ทำไมต้องเก็บเงินเกษียณตอนนี้ อีกตั้งหลายสิบปีกว่าจะเกษียณ เหตุผลที่ต้องเริ่มเก็บตั้งแต่ตอนนี้เพราะหากมาเริ่มตอนอายุมากๆ เช่น หลังอายุ 50 ปีไปแล้ว ก็ต้องเร่งเก็บเงินแต่ละเดือนในจำนวนมากเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายเกษียณ ซึ่งยากที่จะทำได้ แถมยังไม่มีเวลาให้เงินทำงานสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย จำนวนเงินเก็บที่ได้สู้คนที่เก็บแต่ละเดือนน้อยกว่า แต่เริ่มเก็บตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ได้เลย และเมื่อถึงวันที่ต้องเกษียณจริงๆ ก็มีเงินไม่พอใช้ ไม่ได้ใช้ชีวิตในวัยเกษียณอย่างสุขสบายแบบที่ตั้งใจ นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 เหตุผลที่กระตุ้นให้เราต้องรีบเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ได้แก่
1. คนอายุยืนยาวขึ้น
จากความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การบำบัดด้วยยีน การฟื้นฟูเซลล์ อวัยวะเทียมและอุปกรณ์ช่วยเหลือ สามารถช่วยยืดอายุของมนุษย์ออกไปได้ ซึ่งจากการสำรวจและคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ และ เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม พบว่า ในปี 2050 คาดว่าอายุเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 77.3 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 82.3 ปี ซึ่งมากกว่าอายุเฉลี่ยของคนเอเชียที่มีอายุเฉลี่ย 79.5 ปี เมื่อเรามีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้นานขึ้นก็ต้องเตรียมเงินไว้ใช้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
2. ข้าวของแพงขึ้น
การที่ข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้นทุกปีเกิดจากเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มูลค่าของเงินลดลง คือเงินจำนวนเท่ากันในวันนี้กลับซื้อของได้น้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน หรือต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเพื่อซื้อของให้ได้จำนวนเท่าเดิม โดยเฉลี่ยเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 3% ต่อปี ดังนั้น อย่าลืมคิดเรื่องเงินเฟ้อด้วย เงินเก็บที่เราคิดว่าพออาจไม่พอแล้วก็ได้เมื่อเจอเงินเฟ้อ
3. ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น
นอกจากข้าวของเครื่องใช้จะแพงขึ้นแล้ว ค่ารักษาพยาบาลซึ่งเป็นรายจ่ายสำคัญของคนในวัยเกษียณยังสูงขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 5-8% จึงจำเป็นต้องเตรียมเงินก้อนหรือความคุ้มครองสุขภาพไว้รองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อไม่ให้เงินเก็บทั้งหมดที่มีหมดไปกับค่ารักษาพยาบาล
คำนวณเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ
ก่อนเริ่มเก็บเงินลองคำนวณดูก่อนว่า ณ วันเกษียณต้องมีเงินเท่าไรถึงจะพอใช้ มีวิธีคำนวณง่ายๆ ดังนี้
จำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อเดือน x 12 เดือน x จำนวนปีที่ต้องการใช้เงินหลังเกษียณ
เช่น ปัจจุบันอายุ 35 ปี อยากเกษียณตอนอายุ 55 ปี และต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 50,000 บาท เป็นเวลา 30 ปี 50,000 x 12 x 30 = 18,000,000 บาท คือจำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณซึ่งยังไม่รวมเงินเฟ้อ
แนวทางการออมและลงทุน
เพื่อให้มีเงินใช้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ ขอแนะนำแนวทางการออมและลงทุนดังนี้
1. คนทำงานประจำ แนะนำสูตร 12+4+2
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
มนุษย์เงินเดือนสามารถลงทุนในกองทุน RMF และนำค่าซื้อหน่วยลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่นๆ แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่น ลงทุนในกองทุน KWPULTIRMF ซึ่งเป็นกองทุนผสมทุกปี ปีละ 300,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี ณ วันเกษียณจะมีเงินก้อนประมาณ 12.3 ล้านบาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
มนุษย์เงินเดือนที่บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมเข้ากองทุนได้สูงสุด 15% ของเงินค่าจ้าง โดยเงินสะสมนี้ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น เงินเดือน 70,000 บาท ส่งเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% ของเงินเดือน คือเดือนละ 10,500 บาท หรือปีละ 126,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี ณ วันเกษียณจะมีเงินก้อนประมาณ 3.7 ล้านบาท
- ประกันชีวิต
สำหรับคนที่ต้องการเงินก้อนในวัยเกษียณ
ประกัน 80/5 ทริปเปิ้ลเงินก้อน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้ในวัยเกษียณเพราะมีเงินคืนเป็นเงินก้อนให้ 3 ครั้ง ตอนอายุ 60, 70 และ 80 ปี เช่น ทำทุนประกัน 320,000 บาท จะได้รับเงินคืนครั้งละ 160,000 บาท ตอนอายุ 60 และ 70 ปี รวม 320,000 บาท และได้รับเงินก้อน 1.76 ล้านบาท ตอนอายุ 80 ปี ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท (ค่าเบี้ยปีละประมาณ 206,700 บาท กรณีเพศชาย อายุ 35 ปี) หรือ
- ประกันบำนาญ
ส่วนคนที่ต้องการเงินบำนาญ
ประกันชีวิตเพื่อบำนาญแบบลดหย่อนได้ A85/5 เป็นตัวช่วยที่ตอบโจทย์ให้เรามีเงินบำนาญไว้ใช้ในวัยเกษียณ เพราะมีเงินคืนให้ทุกปี ปีละ 20% ของทุนประกัน ตั้งแต่อายุ 55 - 85 ปี เช่น ต้องการเงินบำนาญหรือเงินคืนปีละ 1 แสนบาท ก็ทำทุนประกัน 5 แสนบาท เพื่อให้ได้รับเงินคืนปีละ 1 แสนบาท ตั้งแต่อายุ 55 - 85 ปี รวมเงินคืน 3.1 ล้านบาท (ค่าเบี้ยปีละ 258,080 บาท กรณีเพศชาย อายุ 35 ปี)
2. อาชีพอิสระ แนะนำสูตร 16+2
- กองทุนทั่วไป
สำหรับคนที่ทำอาชีพอิสระก็สามารถเก็บเงินเกษียณผ่านการลงทุนในกองทุนทุกเดือนได้เช่นกัน เช่น ลงทุนในกองทุนผสม K-WPULTIMATE ทุกเดือน เดือนละ 33,000 บาท ปีละประมาณ 400,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 7% ต่อปี ณ วันเกษียณจะมีเงินก้อนประมาณ 16 ล้านบาท
- ประกันชีวิตหรือประกันบำนาญ
เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เรามีเงินก้อนไว้ใช้ในวัยเกษียณได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการเงินก้อนหรือเงินบำนาญไว้ใช้ โดยสามารถวางแผนเพื่อให้ได้ผลประโยชน์รวมตลอดสัญญาอยู่ที่ประมาณ 2-3 ล้านบาทได้เหมือนกับคนทำงานประจำ นอกจากนี้ สำหรับคนที่ต้องการเงินคืนมาใช้ทุกปีตั้งแต่ตอนนี้จนถึงหลังเกษียณ ประกัน 85/5 High Return เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเพราะมีเงินคืนระหว่างสัญญาทุกปี ปีละ 7% ของทุนประกัน ตั้งแต่ปีที่ 1 - อายุ 84 ปี และเมื่อครบกำหนดสัญญาตอนอายุ 85 ปี จะได้รับเงินก้อน 500% ของทุนประกัน
ชีวิตวัยเกษียณจะเป็นอย่างไร เราออกแบบได้ตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มจากการตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บเงินเกษียณ คำนวณจำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณ และลงมือออมลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่เหมาะกับเราอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน อย่ารอให้เวลาล่วงเลยจนสายเกินไป เพราะไม่มีใครสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้อีกแล้ว
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
• บลจ.กสิกรไทย, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Tech2Biz