ทำไมกองทุน K-VIETNAM ถึงปรับตัวลง
เป็นผลกระทบสะสมจากความเคลื่อนไหวรวม 3 วันทำการ หรือ 5 วันปฏิทิน ในช่วง 12-17 เม.ย. ที่ประเทศไทยหยุดทำการช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนอกจากเหตุการณ์สงคราม อิหร่าน-อิสราเอล ในช่วง ส.13 - อา.14 เม.ย. ที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมทั่วโลก ตามที่ K WEALTH ได้มีการอัปเดต “ประเด็นร้อน: ลงทุนอย่างไรท่ามกลางสงคราม อิหร่าน - อิสราเอล” ไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. (เมื่อวาน) แล้วนั้น คาดว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ดันนีตลาดหุ้นเวียดนาม VNI ปรับตัวลง -4.70% ในวันจันทร์ที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของ บลจ.ไทย จึงยังไม่เห็นราคากองทุน K-VIETNAM ณ วันดังกล่าว ยังเกิดจากปัจจัยภายในประเทศเวียดนามเองด้วย
โดยมีกระแสข่าวถึงความไม่แน่นอนที่ รัฐบาลเวียดนามจะมีการอุ้ม ธนาคารไซ่ง่อน จอยท์ สต็อก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (SCB) เนื่องจากหากรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือด้วยการปล่อยเงินกู้ SCB ก็จะล้มละลาย แต่หากมีการปล่อยกู้ก็อาจถูกกระแสต่อต้านจากการใช้เงินรัฐไม่เหมาะสม เนื่องจาก SCB มีความเกี่ยวข้องกับคดีการฉ้อโกงเงินมูลค่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ของนางเจือง มาย หลั่น ที่เพิ่งถูกศาลเวียดนามตัดสินประหารชีวิต เมื่อ 11 เม.ย.ที่ผ่านมาในความผิดฐานบงการการฉ้อโกง
อีกทั้งยังมีข่าวว่า หนึ่งในสามของผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนใหม่จะถูกสอบสวนเรื่องทุจริต ส่งผลให้ผู้แข่งขันอาจเหลือเพียงสองคนเท่านั้น ซึ่งการแข่งขันทางการเมืองดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติ จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบรุนแรงหรือสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเมืองของเวียดนาม โดย K WEALTH มองว่าการที่ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงจากสาเหตุทางการเมืองดังกล่าว เกิดจากความวิตกกังวลระยะสั้น หรือ Panic sell เท่านั้น ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานแต่อย่างใด
คำแนะนำการลงทุน กองทุน K-VIETNAM
K WEALTH ยังมีมุมมองค่อนข้างเป็นบวก โดยสามารถถือและทยอยลงทุนต่อในกองทุน K-VIETNAM ได้ ยกเว้นกรณีมีการลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนาม (ทุกกองทุน ทุก บลจ.) ในสัดส่วนที่เกินกว่า 30%ของเงินลงทุนรวม แนะนำให้หาจังหวะในการทยอยขายคืนหรือสับเปลี่ยนไปกองทุนหุ้นแนะนำอื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากากรลงทุนกระจุกตัวลง เช่น กองทุน K-GHEALTH กองทุน K-HIT-A(A) กองทุน K-JPX-A(A) เป็นต้น หรือกองทุน K-WPULTIMATE ที่เงินลงทุนส่วนใหญ่ประมาณ 85% มีการลงทุนในหุ้นหลากหลายประเทศ ช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนกระจุกตัวแค่บางประเทศได้
ทำไมกองทุน K-FIXEDPRO ถึงปรับตัวลง
ราคากองทุนที่ปรับตัวลง -0.51%เทียบกับวันก่อนหน้า เป็นราคากองทุน ณ 11 เม.ย. 67 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่สหรัฐฯ มีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงกว่าคาด ซึ่ง CPI เป็นตัวเลขที่สะท้อนอัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED นักลงทุนจึงกังวลว่า FED อาจยังไม่ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี วันที่ 11 เม.ย. ปรับตัวขึ้น 0.86% ทำให้ราคาตราสารหนี้หรือ NAV กองทุนตราสารหนี้ปรับตัวลดลง (ราคาตราสารหนี้ เคลื่อนไหวตรงข้ามกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล)
อย่างไรก็ตาม หากพิจาณาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. แล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงโดยปรับตัวขึ้น 0.11% ซึ่งคาดว่าส่งผลให้ราคากองทุน K-FIXEDPRO ณ 17 เม.ย. อาจมีการปรับตัวลงอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
คำแนะนำการลงทุน กองทุน K-FIXEDPRO
เนื่องจากกองทุน K-FIXEDPRO เป็นกองทุนตราสารหนี้ ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งแม้ราคาจะมีการปรับตัวตามดอกเบี้ยตลาดหรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล แต่เมื่อตราสารหนี้เหล่านั้นทยอยจ่ายดอกเบี้ยและทยอยครบกำหนด ราคากองทุนก็จะทยอยปรับตัวขึ้นเช่นกัน ดังนั้นหากผู้ลงทุนสามารถถือลงทุนได้ 1.5 ปีขึ้นไป (1 ปี 6 เดือน) ก็ยังแนะนำให้ลงทุนกองทุน K-FIXEDPRO ต่อ เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงกว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือหากกังวลกับความผันผวนในกองทุนตราสารหนี้ แนะนำให้พักเงินในกองทุน K-SF-A ที่เหมาะกับการพักเงิน 1-3 เดือน และมีความผันผวนน้อยกว่า K-FIXEDPRO
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”