K WEALTH / บทความ / ธีมลงทุน 2024 ไปท่าไหนมงจะลง ฝ่าความผันผวน
02 มกราคม 2567
4 นาที

ธีมลงทุน 2024 ไปท่าไหนมงจะลง ฝ่าความผันผวน


​​​​​​​​​​​​​​​​“

• ปี 2023 เป็นปีของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น สหรัฐฯ ขึ้นจาก 0% มาที่ 5.25% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อสูง ทำให้หลายคนคาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่ด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมาก เศรษฐกิจในปี 2024 จึงอาจมีแนวโน้มเพียงชะลอตัว (Slowdown)


• KWEALTH มองว่ามี 4 ธีมการลงทุนสำหรับปี 2024 ประกอบด้วย 1. ถึงเวลาแล้วของพอร์ตการลงทุนแบบ 60/40 2. หุ้น Megatrend กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง 3. Healthcare ธุรกิจที่เหมาะสมกับการลงทุนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว 4. การกลับมาของภูมิภาคเอเชีย


• และ 3 ความเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือ 1. ความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศยังระอุ 2. เงินเฟ้อยังไม่จบรอบอย่างชัดเจน 3. ความเสี่ยงในระบบการเงินจากระดับดอกเบี้ยที่สูง



ปี 2023 นับเป็นปีที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินตึงตัวที่สุดในรอบกว่า 15 ปี ส่งให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นมาแตะระดับสูงอย่างรวดเร็ว แต่ด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมาก นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัว (Slowdown) สูงกว่าหดตัว (Recession) และด้วยแรงกดดันที่ลดลงต่อสินทรัพย์การลงทุนทุกประเภท ราคาสินทรัพย์จึงต่างทยอยฟื้นตัวในช่วงใกล้สิ้นปีที่ผ่านมา


ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราเงินเฟ้อ ความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศ และผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลให้การลงทุนในปี 2024 ต้องโฟกัสไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีผลประกอบการโดดเด่นมากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจที่มีรายได้สม่ำเสมอ พร้อมกระจายการลงทุนไปยังหลายสินทรัพย์มากยิ่งขึ้นเพื่อลดความผันผวนและคว้าโอกาสที่น่าสนใจ



Theme การลงทุนปี 2024


1.ถึงเวลาแล้วของพอร์ตการลงทุนแบบ 60/40

แม้เงินเฟ้อจะลดลงช้าและไม่แน่นอน คาดว่าธนาคารกลางทั่วโลกต้องคงดอกเบี้ยระดับสูงเพื่อลดเงินเฟ้อให้ถึงเป้าหมายที่ 2% กลายเป็นวลีคุ้นหู “Higher for Longer” แต่ด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยที่ชัดเจนว่าแตะระดับสูงสุดไปแล้ว และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ที่สูงสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ตราสารหนี้ทั้งประเทศไทยและต่างประเทศกลับมาน่าสนใจเช่นกัน​


ด้านพอร์ตการลงทุน 60/40 ที่เป็นแนวทางการจัดสัดส่วนสินทรัพย์มาอย่างยาวนาน โดย Harry Markowitz เป็นผู้เริ่มไอเดียนี้ มีสัดส่วนหุ้น 60% และตราสารหนี้ 40% จากนั้นมาสถาบันการเงินระดับโลกมากมาย เช่น J.P. Morgan, BlackRock ได้กล่าวถึงและใช้เป็นต้นแบบพอร์ตการลงทุนจนถึงทุกวันนี้ ด้วยอานิสงส์จากทิศทางดอกเบี้ยขณะนี้ ทำให้สินทรัพย์ในพอร์ตแบบ 60/40 กลับมาน่าสนใจ โดยคว้าโอกาสทั้งหุ้นและตราสารหนี้ พร้อมกระจายความเสี่ยงไปในเวลาเดียวกัน


สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนตราสารหนี้ประเทศไทย แนะนำพิจารณา การลงทุนกองทุน K-SF-A, K-FIXEDPLUS-A หรือตราสารหนี้ต่างประเทศ แนะนำกองทุน K-GB-A(D) หรืออาจพิจารณากองทุนที่มีการกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ให้แล้ว อย่างเช่น กองทุน WP-LIGHT สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ กองทุน WP-BALANCED สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงปานกลาง และกองทุน WP-ULTIMATE สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง


2.หุ้น Megatrend กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

ปีที่ผ่านมาการขึ้นดอกเบี้ยกดดันราคาหุ้น Megatrend ซึ่งเป็นหุ้นเติบโต แต่เมื่อแนวโน้มดอกเบี้ยชัดเจนแล้ว แรงกดดันดังกล่าวจึงลดลง ในเวลาเดียวกันธุรกิจเหล่านี้ยังแข็งแกร่งและเป็นผู้นำกำลังกลับมาฟื้นตัว ผลประกอบการยังโดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมอื่น หุ้น Megatrend จึงกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง​


เช่น Palo Alto บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์จากสหรัฐฯ ไตรมาส 3/2023 รายได้เพิ่มขึ้น 20.1% (YoY) กำไรเพิ่มขึ้น 89.2% (YoY) หรือ KLA Corp ผู้ผลิตเครื่องตรวจสอบและประกอบชิป ที่แม้ไตรมาส 3/2023 รายได้จะลดลง 12% (YoY) และกำไรลดลง 20.5% (YoY) แต่ด้วยวัฏจักรของอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าปี 2024 วัฏจักรธุรกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง


หรือจะเป็นหุ้น Duolingo โปรแกรมเรียนภาษาฟรี กลับทำรายได้ไตรมาส 3/2023 เติบโต 43.3% (YoY) ขณะเดียวธุรกิจเติบโตจนมีกำไรเป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา ด้านหุ้นขนาดใหญ่แต่มีธุรกิจผูกขาดอย่าง ASML ไตรมาส 3/2023 รายได้เพิ่มขึ้น 15.5% (YoY) กำไรเติบโต 11.23% (YoY)


ปี 2024 คาดว่าภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว การลงทุนจึงควรเน้นไปยังหุ้นที่มีธุรกิจเติบโตมากกว่าเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือกลุ่มหุ้น Megatrend ที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบการลงทุนหุ้นเติบโต บลจ.กสิกรไทย มีกองทุนที่เน้นลงทุนในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน


ประกอบด้วยกองทุนรวม K-HIT-A(A) ที่คัดเลือกการลงทุนภายใต้ Megatrends 5-7 ธีม ซึ่งคาดว่าจะเติบโตโดดเด่น มีการกระจายการลงทุนสูงทำให้ความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนหุ้นเติบโตในกลุ่มเดียวกัน และกองทุนรวท K-CHANGE-A(A) ซึ่งเน้นการลงทุนหุ้นเติบโตที่มีธุรกิจสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การลดความเหลื่อมล้ำ


3.Healthcare ธุรกิจที่เหมาะกับการลงทุนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

อีกกลุ่มธุรกิจที่เหมาะกับสถานการณ์ในปี 2024 คือ กลุ่ม Healthcare ที่เป็นปัจจัย 4 ต้องใช้ทุกวันไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ทำให้สร้างรายได้สม่ำเสมอ เหมาะกับนักลงทุนสาย Conservative​


ย้อนไปช่วงวิกฤติ Subprime ต้นปี 2008 ดัชนี MSCI World Healthcare มีรายได้ 57.83 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อถึงปลายปี 2009 มีรายได้ที่ 67.43 ดอลลาร์ต่อหุ้น ส่วนดัชนีตลาดโลกอย่าง MSCI ACWI มีรายได้ช่วงต้นปี 2008 ที่ 285.31 ดอลลาร์ต่อหุ้น เมื่อถึงปลายปี 2009 รายได้อยู่ที่ 262.95 ดอลลาร์ต่อหุ้น


ขณะที่ปี 2018 ซึ่งเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ - จีน เมื่อเริ่มต้นปี 2018 ดัชนี MSCI World Healthcare มีรายได้ 107.9 ดอลลาร์ต่อหุ้น ปลายปี 2018 อยู่ที่ 119.67 ดอลลาร์ต่อหุ้น เป็นอีกช่วงเวลาที่สะท้อนว่ากลุ่มอุตสาหกรรมนี้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกค่อนข้างต่ำ


แต่ละช่วงเวลาราคาหุ้น Healthcare อาจผันผวนไปบ้างตามข่าวระยะสั้น แต่ระดับความผันผวนและการปรับตัวลงมักจะต่ำกว่าดัชนีตลาด อีกทั้งข้อมูลระยะยาวชี้ชัดว่าอุตสาหกรรม Healthcare มีรูปแบบธุรกิจที่มั่นคง เหมาะกับทั้งการลงทุนระยะยาวและรับกับความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาวะชะลอตัว โดยแนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน K-GHEALTH​



4.การกลับมาของภูมิภาคเอเชีย

​ตลาดหุ้นเอเชียถูกกล่าวถึงในฐานะภูมิภาคที่มีการเติบโตโดดเด่น โครงสร้างประชากรยังเหมาะกับภาคอุตสาหกรรม เมื่อมองไปในอนาคตยังมีโอกาสเติบโตอีกมากมายที่สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น รถยนต์ EV, แหล่งผลิตชิปและวงจร, อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด


ปี 2024 แรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูงต่อตลาดหุ้นเอเชียลดลง นักลงทุนต่างหันมาสนใจการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภูมิภาคเอเชียยังมีอัตราการขยายตัวที่โดดเด่น โดยประมาณการ GDP ประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญในเอเชียยังคงเติบโตต่อเนื่อง


นำโดยประเทศเวียดนามดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งเอเชียถูกคาดว่าปี 2024 GDP จะเติบโต 6% ด้านประเทศอินเดียมหาอำนาจใหม่คาดว่า GDP จะขยายตัว 6.6% ขณะที่ประเทศจีนพี่ใหญ่แห่งเอเชียถูกคาดว่า GDP จะเติบโต 4.5% ส่วนประเทศไทยที่กำลังฟื้นตัวด้วยการท่องเที่ยวและบริโภคภายใน มีประมาณการ GDP ปี 2024 อยู่ที่ 3.5%


K WEALTH มองว่าตลาดหุ้นเวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุนด้วยมูลค่าที่ต่ำประกอบกับการเติบโตสูง สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม แนะนำลงทุนผ่านกองทุน K-VIETNAM ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดียยังอยู่ในการติดตามของ K WEALTH ทั้งในแง่มูลค่าและการเติบโตจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ



ความเสี่ยงปี 2024


1.ความเสี่ยงการเมืองระหว่างประเทศยังร้อนระอุ

​สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี ยังดำเนินต่อไปโดยไร้วี่แววยุติ ทำให้ไม่สามารถวางใจต่อสถานการณ์ ขณะเดียวกันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกจุดเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งล่าสุดเริ่มลุกลามหลังกลุ่มฮูตีโจมตีเรือบรรทุกสินค้าบริเวณช่องแคบที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลแดงและทะเลเอเดน กระทบต่อการขนส่งสินค้า และยังต้องติดตามแนวชายแดนเลบานอน-อิสราเอลที่อาจเปิดแนวรบได้ทุกเมื่อ สำหรับปี 2024 ยังต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวต่อเนื่อง พร้อมกับจุดเสี่ยงอีกหลายจุดทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวัน


ด้วยสถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนลงหลังดอกเบี้ยแตะระดับสูงสุดไปแล้ว หนุนให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงให้พอร์ตการลงทุนด้วยทองคำ แนะนำให้กระจายลงทุนบางส่วนผ่านกองทุนรวม K-GOLD-A(A)


2.เงินเฟ้อยังไม่จบรอบอย่างชัดเจน

แม้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐฯ เดือน พ.ย. จะยังอยู่ที่ 3.1% (YoY) แต่ลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. ซึ่งอยู่ที่ 6.4% (YoY) อย่างไรก็ตามภาพรวมเงินเฟ้อยังลดลงช้ากว่าที่คาด เป็นผลจากราคากลุ่มบริการและที่พัก ซึ่งราคามักจะปรับขึ้นและลงช้ากว่ากลุ่มอาหารและพลังงาน ส่งให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) สหรัฐฯ เดือน พ.ย. อยู่ที่ 4.0% (YoY) เป็นระดับเดียวกับเดือน ต.ค. ประกอบกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นได้ทุกเมื่อ จึงยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าภาวะเงินเฟ้อสูงถูกแก้ไขเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สอดคล้องกับถ้อยแถลงจากประธาน Fed ที่กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะประกาศชัยชนะเหนือปัญหาเงินเฟ้อสูง


3.ความเสี่ยงในระบบการเงินจากระดับดอกเบี้ยที่สูง

โดยปกติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมักจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาประมาณ 6-24 เดือน ซึ่งปีหน้าอยู่ในช่วงเวลาติดตามผลดังกล่าว เมื่อไตรมาส 1 ปี 2023 ผลกระทบได้ปรากฎขึ้นมาบ้างแล้วผ่านการขาดสภาพคล่องในธนาคารขนาดเล็กและกลางของสหรัฐฯ และธนาคาร Credit Suisse ในยุโรป


ในปี 2024 หนี้กลุ่มบัตรเครดิตและยานยนต์ที่ภาระการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก J.P. Morgan ระบุว่าปัจจุบันภาระดอกเบี้ยสินเชื่อทุกประเภทยกเว้นที่พักอาศัย (Non-mortgage debt) อยู่ที่ประมาณ 510,000 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าช่วงวิกฤติปี 2008 ซึ่งหากอยู่ในระดับที่สูงเกินไปอาจกระทบต่อกำลังการบริโภค ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหรืออาจหดตัวได้


จากภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2024 นี้ K WEALTH มองเห็นโอกาสการลงทุนใน 4 ธีมหลัก คือ 1.พอร์ตการลงทุนแบบ 60/40 2.หุ้น Megatrend ที่กลับมาโดดเด่น 3.กลุ่ม Healthcare ธุรกิจที่เหมาะสมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และ 4.การกลับมาของภูมิภาคเอเชีย ส่วนความเสี่ยงที่ยังควรติดตามใกล้ชิด เป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมถึงความคืบหน้าของภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ค้างอยู่สูง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้มีการกระจายการลงทุนไปยังหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของปีนี้



โปรโมชั่นรับปีใหม่ 2024​​



​​

ขึ้นปีใหม่ทั้งที K WEALTH มีโปรโมชั่นมาฝากนักลงทุนทุกคน เมื่อลงทุนแบบ DCA วันนี้ รับเครดิตเงินคืนสูงสุด 1,000 บาท เมื่อลงทุนในกองทุนที่ร่วมรายการ ขั้นต่ำเดือนละ 5,000 ครบ 3 เดือน สนใจรับโปรโมชั่นได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. – 31 มี.ค. 67


บทความโดย K WEALTH Trainer วีรพล บางแวก
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นร้อน: FED ส่งสัญญาณจบดอกเบี้ยขาขึ้น ลุ้นลดดอกเบี้ยปีหน้า
ประเด็นร้อน : กนง. คงดอกเบี้ย คาดเศรษฐกิจปีหน้าโตด้วยบริโภคภายใน ส่งออกฟื้น
ประเด็นร้อน: หลังเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด ตลาดปรับบวกเพราะอะไร?

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ