K WEALTH / บทความ / Wealth Management / 4 ข้อคิดดีดี พาผู้ประกอบการก้าวข้ามกับดักภาษี
09 ตุลาคม 2566
2 นาที

4 ข้อคิดดีดี พาผู้ประกอบการก้าวข้ามกับดักภาษี


​เรื่องภาษีควรถูกมองให้เป็นตัวช่วย มากกว่าเป็นภาระที่ต้องเลี่ยง ผู้ประกอบการที่เติบโตและมีกิจการที่ขยายตัวเพิ่มได้ ต่างก้าวผ่านความพยายามเลี่ยงภาษีไปเป็นความพยายามจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพแทน และภาษีเป็นเรื่องที่ต้องรู้ในฐานะเจ้าของกิจการมากกว่าเป็นเรื่องของบัญชีหรือที่ปรึกษาเท่านั้น



ข้อคิดที่ 1 ความรู้ภาษี คือ กำไรของผู้ประกอบการ

การรู้และเข้าใจภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ผู้ประกอบการเสียภาษีได้น้อยลงในวิธีที่ถูกต้องตามกฎหมาย หมายถึง หากผู้ประกอบการมีความรู้ก็สามารถช่วยเพิ่มกำไรให้กับกิจการได้อย่างตรงไปตรงมา การศึกษาความรู้เรื่องภาษีจึงเป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการควรศึกษาไว้บ้าง ถึงแม้ธุรกิจจะจ้างนักบัญชีเป็นที่ปรึกษาก็ตาม เช่น ธุรกิจมีการประมาณการกำไร พิจารณาจากกำไรในอดีตและแนวโน้มการเติบโตหากกิจการคาดว่ากำไรเฉลี่ยต่อปีจะเกิน 750,000 บาทก็ควรเลือกประกอบธุรกิจในรูปบริษัท เนื่องจากอัตราภาษีอยู่ที่ 15% (กรณี เป็นกิจการ SMEs) ซึ่งจะประหยัดภาษีมากกว่ากรณีบุคคลธรรมดา ทำให้เหลือกำไรสุทธิมากกว่านั่นเอง



ข้อคิดที่ 2 การเข้าใจภาษีจะช่วยให้ผู้ประกอบการคำนวณต้นทุนสินค้าได้อย่างถูกต้อง

​ภาษีเป็นส่วนนึงที่มีผลต่อราคาสินค้าค่อนข้างมาก นอกจากต้นทุนโดยตรงของสินค้ายังมีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้ ฯลฯ ขณะเดียวกันทางภาครัฐก็มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีมาตรการในการสนับสนุนธุรกิจ SMEs เช่น การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้น , การจ้างงานผู้สูงอายุ ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ค่าจ้างไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (กิจการจะสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า)ฯ ที่กล่าวมานี้ หากผู้ประกอบการมีความเข้าใจและสามารถคำนวณได้จะทราบกำไรที่แท้จริงของกิจการได้อย่างถูกต้องและสามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อบริหารทรัพยากร การกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสม รวมถึงการแบ่งปันการช่วยเหลือชุมชนและสังคม ผ่านความเข้าใจเรื่องภาษีได้



ข้อคิดที่ 3 ต้นทุนของการหนีหรือหลบเลี่ยงภาษี มักสูงกว่าภาษีที่ลดได้

ผู้ประกอบการหลายท่านอาจได้รับคำแนะนำถึงวิธีการที่สามารถทำให้เสียภาษีน้อยที่สุด จนหลายครั้งกลับมีต้นทุนในการหลบเลี่ยงภาษีหรือลดภาษีแพงว่าภาษีที่ลดได้เสียอีก เช่น ไปซื้อสินทรัพย์อย่างรถยนต์ให้ผู้ประกอบการใช้ส่วนตัวแต่ไม่มีอยู่ในระเบียบบริษัทในส่วนสวัสดิการ (เข้าข่ายรายจ่ายต้องห้าม) มีลักษณะเป็นรายจ่ายส่วนตัวที่ไม่ได้ใช้เพื่อธุรกิจแต่ลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท หรือ หากระบุในสวัสดิการแต่บริษัทมีรถยนต์หลายคันที่ใช้งานในธุรกิจอยู่แล้วทำให้เม็ดเงินที่เสียไปไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งหากเป็นกรณีที่เข้าข่ายรายจ่ายต้องห้ามนำมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทและถูกตรวจสอบพบเข้าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย จึงควรทำอย่างตรงไปตรงมาจะดีกว่า อีกตัวอย่างนึงผู้ประกอบการอาจได้รับคำแนะนำให้ไปซื้อใบเสร็จปลอมมาลดหย่อนภาษี แบบนี้ต้นทุนสูงมาก เพราะถ้าโดนจับเมื่อไหร่ เจอค่าปรับมหาศาล ทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษอาจร้ายแรงกว่านี้ได้ แต่หากผู้ประกอบการมีความรู้เรื่องการจัดการการเงิน รวมถึงรายละเอียดบัญชีว่าธุรกิจมีรายได้ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเท่าไรบ้าง ก็จะได้ข้อมูลบัญชีที่ถูกต้องจะทำให้วางแผนช่วยจัดการเรื่องการเงินไปจนถึงจัดการเรื่องภาษีได้



ข้อคิดที่ 4 เป้าหมายของกิจการคือกำไรที่เติบโตและพัฒนาไปสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ไม่ใช่การทำให้ภาษีต่ำสุด

อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ภาษีและการดำเนินธุรกิจเป็นของคู่กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับความสามารถในการบริหารกิจการที่จะทำให้กำไรเติบโตและธุรกิจมีความยั่งยืนเป็นอันดับแรก ส่วนด้านภาษีผู้ประกอบการควรศึกษาหาความรู้ควบคู่ไปด้วยประกอบกับปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือเพื่อวางแผนจัดการภาษี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจที่มาที่ไปด้านการเงินของธุรกิจด้วย จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง ทั้งยังลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น และไม่ได้มาตรฐาน และการเสียภาษีอากรที่ถูกต้องยังจะช่วยทำให้ระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ ไม่ต้องกังวลปัญหาทางภาษีอากรในภายหลัง


อีกประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ ในบางครั้งผู้ประกอบการอาจลืมนึกถึงการแยกกระเป๋าเงินระหว่างรายได้ "กิจการ" และรายได้ "ส่วนตัวของผู้ประกอบการ" ทำให้เกิดความสับสน หลายคนนำรายได้ของธุรกิจมาใช้เป็นรายได้ของตัวเองด้วยความเข้าใจผิด เช่น ผู้ประกอบการมีรายได้รวม 1 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 8 แสนบาท (รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวของผู้ประกอบการด้วยจำนวน 3 แสนบาท) งบการเงินของธุรกิจมีกำไร 2 แสนบาท คำถาม คือ ผู้ประกอบการท่านนี้มีรายได้เท่าไหร่? จะต้องยื่นภาษีอย่างไร ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการแยกรายได้ชัดเจนตั้งแต่ต้นจะสามารถแยกค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับรายรับของตัวเอง ทั้งยังวางแผนแบ่งเงินออมไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมหรือเพื่อเป้าหมายการเงินต่างๆของตนเองได้ ซึ่งการให้เงินเดือนผู้ประกอบการหรือกรรมการบริษัท ถ้าวางแผนดีๆ ก็ช่วยประหยัดภาษีนิติบุคคลด้วย เช่น หากเงินเดือนที่ผู้ประกอบการได้รับ 25,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งปีเท่ากับ 300,000 บาท หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 และค่าลดหย่อนภาษี​ส่วนตัว 60,000 บาท เงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา 150,000 แรกได้รับการยกเว้นภาษี เท่ากับว่าไม่ต้องเสียภาษีบุคคล ได้ประโยชน์เต็มๆ แต่หากรายได้ผลประกอบการกำไรเพิ่มขึ้นการจ่ายเงินเดือนให้ผู้ประกอบการก็ควรสมเหตุสมผลเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอาจทำให้รายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษี​ SSF RMF และประกันชีวิต เพื่อขอคืนภาษีได้อีกด้วย ถือเป็นเครื่องมือประกอบการวางแผนการเงิน ออมเงินในระยะยาว 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ 

5 ข้อคิด ภาษีธุรกิจ เรื่องที่ผู้ประกอบการควรรู้ 

เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (รายจ่ายต้องห้าม)​



บทความโดย K WEALTH Trainer กานต์พิชชา แดงพิบูลย์สกุล

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

รีวิว 2 กองทุนประหยัดภาษีน่าสนใจปี 2566 K-USA K-CHANGE
รวมมิตรเครื่องมือการลดหย่อนภาษี 2566 วางแผนดี มีเงินเหลือ
ประเด็นร้อน : วิธีจัดการ เมื่อรายได้จากต่างประเทศ ต้องเสียภาษี
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!