"
• ราคาน้ำมันโลก ปรับตัวขึ้นแรงในวันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย. 66 หลังโอเปกพลัสประกาศลดการผลิต เหนือความคาดหมาย
• ผู้ที่ถือกองทุน K-OIL อยู่ แนะนำให้ถือเพื่อรอประเมินสถานการณ์ก่อน แต่หากถือไว้ในสัดส่วนที่สูงแนะนำสับเปลี่ยนไปกองทุน K-CASH หรือ K-SF-A เพื่อพักเงิน และลดความเสี่ยงของเงินลงทุนโดยรวมลง
• ผู้ที่กังวลกับความผันผวน แต่รับความเสี่ยงได้ แนะนำเน้นลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-PLAN2, K-PLAN3 เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว โดยไม่จำเป็นต้องติดตามตลาดบ่อยนัก
"
วันอาทิตย์ที่ 2 เม.ย. 66 ราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นวันเดียว +6.38%เทียบกับวันก่อนหน้า โดยราคากองทุนของ K-OIL (Invesco DB Oil) ณ 3 เม.ย. 66 มีการปรับตัวขึ้น +4.32%เทียบกับวันทำการก่อนหน้า (ซึ่งรวมผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของน้ำมันโลกในช่วงวันเสาร์-จันทร์) ซึ่งคาดว่าราคากองทุน K-OIL ณ 3 เม.ย. 66 (คาดว่าประกาศคืน 4 เม.ย.) จะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับกองทุนหลัก
ทำไมราคาน้ำโลก ถึงปรับตัวขึ้น
ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 80 ดอลลาร์หลังโอเปกพลัสประกาศลดการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ก่อนหน้าคาดการณ์ไว้ว่า โอเปกพลัสจะคงนโยบายการผลิตน้ำมันด้วยการปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันไปจนถึงสิ้นปี 2566
การตัดสินใจครั้งล่าสุดนี้ ส่งผลให้ปริมาณการปรับลดการผลิตน้ำมันโดยรวมของโอเปกพลัสอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก การปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจครั้งนี้จะเริ่มใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ทั้งนี้ทาง Goldman Sachs คาดการณ์ว่า สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์สำหรับการส่งมอบในเดือน ธ.ค. 2566 และ ธ.ค. 2567 จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 95 และ 100ดอลลาร์/บาร์เรล ตามลำดับ
โดยโอเปกพลัสระบุว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียจะลดการผลิตน้ำมันลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่อิรักจะลดกำลังการผลิตของตนลงมา 211,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนสมาชิกชาติอื่นๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) คูเวต แอลจีเรีย และโอมาน ก็จะลดการผลิตด้วยเช่นกัน โดยรายละเอียดการลดกำลังการผลิตของแต่ละประเทศ แสดงตามภาพด้านล่าง
มุมมองการลงทุน
•การประกาศลดกำลังการผลิตในครั้งนี้ เหนือความคาดหมายของตลาด และทำให้นักลงทุนคาดว่าตลาดน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะอุปทานตึงตัว เพิ่มเติมจากในช่วงก่อนหน้าที่อิรักระงับการส่งออกน้ำมันไปแล้วบางส่วน
•ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯพุ่งขึ้น และกดดันให้ Fed ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายการเงิน ท่ามกลางภาวะอัตราเงินเฟ้อที่อาจใช้เวลานานในการย่อตัวลง (Sticky Inflation)
•อย่างไรก็ดี ระยะถัดไป ราคาน้ำมันจะยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องของภาคธนาคารของสหรัฐฯ และยุโรป ที่จะทำให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว และกระทบเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
•KAsset ยังคงกรอบราคาน้ำมัน WTI ณ สิ้นปีที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
คำแนะนำการลงทุน
•ผู้ที่ถือกองทุน K-OIL สามารถถือต่อได้ โดยรอประเมินสถานการณ์ แต่หากเงินที่ลงทุนในกองทุน K-OIL มีสัดส่วนที่สูง และมีผลตอบแทนที่เป็นกำไร (เช่น ลงทุนก่อนกลางปี 64) อาจพิจารณาสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยัง K-CASH หรือ K-SF-A เพื่อพักเงินและหาจังหวะเข้าลงทุนในกองทุนอื่น อีกครั้ง
•สำหรับผู้ที่กังวลกับความผันผวน ของกองทุนน้ำมันและตลาดหุ้น แต่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-PLAN2, K-PLAN3 ที่มีการกระจายการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และเงินฝาก ซึ่งเน้นลงทุนในประเทศไทยเป็นหลัก โดยแนะนำให้ทยอยลงทุนหลายครั้ง (เช่น 3-5 ครั้งจากเงินลงทุนที่ตั้งใจ) เพื่อลดความเสี่ยงลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:
KAsset
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”