ประเด็นร้อน: ปิดธนาคาร SVB กระทบตลาดและนักลงทุนแค่ไหน

"


• หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแถลงการผู้ฝากเงินกับธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ยังคงได้รับการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน หลังจากที่ทางการมีคำสั่งปิด SVB เป็นการชั่วคราวในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา


• ระยะสั้นตลาดหุ้นอาจยังผันผวนจากความกังวลที่เกี่ยวข้องกับ SVB แต่ล่าสุดยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ปัญหานี้จะขยายออกไป


• กองทุนรวมหุ้นและกองทุนผสมส่วนใหญ่ มีการกระจายลงทุนในหลายหลักทรัพย์และหลายอุตสาหกรรม ผลกระทบทางตรงจึงค่อนข้างน้อย


"


9-10 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ และส่งผลให้หลายตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงในวันที่ 10 มี.ค. อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น Nasdaq -1.76% S&P 500 -1.45% Dow Jones -1.07% หรือตลาดหุ้นฮ่องกง เช่น HSCEI -3.06%เทียบกันก่อนหน้า เหตุการณ์ที่ว่า คือ การที่ธนาคาร SVB ซึ่งเป็นหนึ่งในธนาคารของสหรัฐฯ ถูกทางการสั่งปิดชั่วคราว


เกิดอะไรขึ้นกับ SVB


SVB หรือ Silicon Valley Bank ซึ่งเป็นธนาคารผู้ปล่อยกู้อันดับที่ 16 และให้บริการทางการเงินแก่บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งของสหรัฐฯ ได้มีการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน ในวันที่ 9 มี.ค. เพื่อชดเชยผลขาดทุนจากการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ SVB ถืออยู่ออกไป จากความจำเป็นที่ต้องนำเงินมาเสริมสภาพคล่องหลังจากที่มีกลุ่มลูกค้าหรือผู้ฝากเงินรายใหญ่หลายรายของธนาคารถอนเงินฝากออกไปซึ่งผู้ฝากเงินรายใหญ่ของ SVB ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Venture Capital (VC) และ Start Up โดยที่ผ่านมาลูกค้ากลุ่มนี้มีความยากลำบากในการระดมทุนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง นักลงทุนหรือผู้มีเงินทุนจึงเลือกที่จะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนจากดอกเบี้ยสูงขึ้น แทนการลงทุนในกิจการ Start Up ที่มีความเสี่ยงสูงหลังจากที่ SVB เปิดเผยว่าธนาคารมีผลขาดทุนจากการขายพันธบัตรรัฐบาล และมีการประกาศขายหุ้นเพิ่มทุน ส่งผลให้ผู้ฝากเงินของ SVB หลายรายมีความกังวลใจขอถอนเงินออกจากธนาคาร จึงเป็นที่มาให้วันที่ 10 มี.ค. หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งปิด SVB เป็นการชั่วคราว และแต่งตั้ง FDIC (สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ) เข้ามาดูแลสินทรัพย์ที่เหลือ อย่างรวดเร็ว


ผลกระทบต่อการลงทุน


แม้ข่าวการปิด SVB จะเป็นที่สนใจ นักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลจนทำให้ตลาดหุ้นหลายตลาดมีการปรับตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ปัญหาของ SVB ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ธนาคารมีหนี้เสีย (NPL) ล่าสุดเมื่อ 12 มี.ค. มีการแถลงการร่วมจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และสถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ (FDIC) ว่าเงินฝากทั้งหมดของ SVB จะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวนและจะสามารถถอนเงินได้ในวันจันทร์ที่ 13 มี.ค. จึงคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายลง แม้ว่าในระยะสั้นตลาดจะยังคงมีความผันผวนอยู่บ้างก็ตาม

สำหรับกองทุนรวมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสม ส่วนใหญ่จะมีการกระจายการลงทุนในหลายหลักทรัพย์ไม่กระจุกตัวในหุ้นใดเป็นพิเศษ รวมถึงหากไม่ใช่กองทุนกองทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหรือกองทุนที่เน้นธีมการลงทุน ก็จะมีการกระจายลงทุนในหลายอุตสาหกรรมด้วย ทำให้ผลกระทบจากธนาคาร SVB หรือความกังวลในหุ้นกลุ่มการเงิน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนส่วนใหญ่มากนัก ยกตัวอย่างเช่น หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มการเงิน (Financials) พบว่ากองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นสหรัฐฯ อย่าง K-USA มีการลงทุนเพียง 2.3% (ข้อมูล ณ 31 ม.ค.) K-US500X ลงทุน 14.5% (ข้อมูล ณ 9 มี.ค.) ส่วนกองทุนผสมอย่าง K-GINCOME มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินเพียงประมาณ 5% (ข้อมูล ณ 31 ม.ค.) เท่านั้น


คำแนะนำการลงทุน


ผู้ลงทุนยังไม่จำเป็นต้องกังวลใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ SVB มากนัก โดยคำแนะนำการลงทุนในกองทุนต่างๆ ยังคงพิจารณาจากสถานการณ์โดยรวมของสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนได้ เช่น

ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ หรือผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้รีบลงทุน โดยแนะนำให้รอประเมินสถานการณ์ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวแนะนำถือต่อได้

ผู้ที่ถือกองทุนผสม ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ยังสามารถถือลงทุนต่อได้ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดอาจยังมีความผันผวน ไม่แนะนำให้ลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว แนะนำให้ทยอยลงทุนหลายครั้ง (เช่น 3-5 ครั้ง จากเงินลงทุนที่ตั้งใจ) เพื่อลดความเสี่ยงลง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
KAsse
, Ryt9

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
Back to top