K WEALTH / บทความ / Product Review / ประกันโรคร้ายแรง vs เก็บเงินค่ารักษาเอง แบบไหนคุ้มกว่า
09 มีนาคม 2566
4 นาที

ประกันโรคร้ายแรง vs เก็บเงินค่ารักษาเอง แบบไหนคุ้มกว่า


​​​​

"


• 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยมีค่ารักษาพยาบาลโดยโรงพยาบาลของรัฐ อยู่ในช่วง 40,000-500,000 บาท ขึ้นอยู่กับโรคและแนวทางการรักษา


• 2 ทางเลือกในเตรียมค่ารักษาพยาบาล หากเป็นโรคร้ายแรง คือ เก็บเงินเอง หรือ โอนความเสี่ยงผ่านการชำระเบี้ยประกันโรคร้ายแรง จะเลือกวิธีไหนให้เหมาะกับตนเอง ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และวินัยในการวางแผนการเงิน


• ​คนที่กำลังทรัพย์สูง เลือกได้ทั้ง 2 แนวทางในการเตรียมค่ารักษาพยาบาล หากเป็นคนทั่วๆไป การโอนความเสี่ยงจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากใช้เงินชำระเบี้ยน้อยกว่า และเริ่มคุ้มครองตั้งแต่ปีแรก (มีระยะเวลารอคอย) 


"​


หลายครั้งมีแนวความคิดระหว่างการทำประกันด้วยการชำระเบี้ยเพื่อคุ้มครองโรคภัยต่างๆ กับ การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนแล้วนำเงินส่วนนั้นมาเตรียมเป็นเงินกองทุนเพื่อรักษาพยาบาล วิธีไหนจะมีโอกาสหรือสร้างความคุ้มค่าได้ บทความนี้จะสรุปมาให้แล้ว


สถิติการเสียชีวิตของคนไทยด้วย 5 โรค


จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2559-2561* พบว่า สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่มาจาก 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) คือ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง 



สถิติค่ารักษาพยาบาล 3 โรค NCDs


จากการค้นหาข้อมูลสถิติค่ารักษาพยาบาลในโรคยอดฮิตที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต จะพบข้อมูลค่ารักษาพยาบาล 3 โรค NCDs ดังนี้

ค่ารักษาโรคมะเร็ง**
มะเร็งเต้านม ค่ารักษาโดยประมาณ 69,300 บาท
มะเร็งปอด ค่ารักษาโดยประมาณ 141,100 บาท
มะเร็งลำไส้ใหญ่ ค่ารักษาโดยประมาณ 103,000 บาท
มะเร็งต่อมลูกหมาก ค่ารักษาโดยประมาณ 184,400 บาท
มะเร็งปากมดลูก ค่ารักษาโดยประมาณ 144,400 บาท
มะเร็งหลอดอาหาร ค่ารักษาโดยประมาณ 150,800 บาท
ซึ่งปัจจุบันนอกจากแนวทางการรักษาด้วยการให้คีโม ที่มีผลข้างเคียง จะมีการรักษาแบบ Target Therapy ที่เน้นรักษามะเร็งเฉพาะจุด และมีค่ารักษาที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน


ค่ารักษาโรคหัวใจ***
การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ค่ารักษาโดยประมาณ 43,000-275,000 บาท
การทำบอลลูน ค่ารักษาโดยประมาณ 76,000-139,000 บาท
ผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ ค่ารักษาโดยประมาณ 124,000-503,000 บาท
ใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ค่ารักษาพยาบาล โดยประมาณ 18,000 – 436,000 บาท

โรคเบาหวาน***
ค่ารักษาพยาบาลประมาณ 28,200 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 2,350 บาท
***ที่มา : สถาบันทรวงอก

อย่างไรก็ตาม แหล่งข้อมูลค่าใช้จ่ายมาจากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งถือว่าค่อนข้างถูก แน่นอนว่า เมื่อต้องการรักษา คิวในการรักษาจะยาวและใช้เวลารอคอย เทียบกับ โรงพยาบาลของเอกชน ซึ่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า ดังนั้น การเตรียมค่าใช้จ่ายอาจจะเผื่อให้สูงกว่านี้ก็ได้ นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงแล้ว ยังอาจมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวต่อเนื่องแบบผู้ป่วยนอก (ไม่ได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล) ทำให้การทำประกันสุขภาพ​ ซึ่งจะเป็นการเตรียมค่าใช้จ่ายรักษาตัวที่โรงพยาบาล(ผู้ป่วยใน)เป็นหลัก อาจจะไม่ได้ช่วยค่ารักษาโรคร้ายแรง ต่างมีข้อดีด้วยกันทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับลักษณะสุขภาพของผู้เอาประกันเป็นหลัก


ทางเลือกในการเตรียมค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคร้ายแรงอย่างไร


เพื่อให้เห็นตัวอย่างมากขึ้น ขอยกตัวอย่างเตรียมค่าใช้จ่ายรักษาโรคร้ายแรง 500,000 บาท ในช่วงอายุ 35 ปี เพศหญิง เพื่อใช้เปรียบเทียบ โดยมี 2 แนวทาง ดังนี้

2.1 เป็นการเตรียมค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง หรือ เรียกว่า Self Insure 

หากเตรียมเงินด้วยการลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง อย่างกองทุนผสม ผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 5% ต่อปี จะเตรียมเงิน 500,000 บาท เมื่ออายุ 60 ปี (เริ่มออมตั้งแต่อายุ 35 ปี) จะต้องออมเดือนละ 840 บาท (ปีละ 10,080 บาท เป็นเวลา 25 ปี หรือ ออมเงินทั้งหมด 252,000 บาท) หรือหากต้องการปิดความเสี่ยงเตรียมเงินก้อนไว้เลย 500,000 บาท เลยตั้งแต่อายุ 35 ปีเลยก็ได้

2.2 ทำประกันโรคร้ายแรง

มี 2 รูปแบบย่อย คือ 

2.2.1 แบบประกันภัย เป็นการชำระเบี้ยรายปี คุ้มครองปีต่อปี (คล้ายๆประกันรถยนต์) ซึ่งเมื่อทุนประกันเท่าเดิม เบี้ยประกันจะค่อยปรับขึ้นตามอายุ  

2.2.2 แบบประกันชีวิตตลอดชีพพร้อมอนุสัญญาโรคร้ายแรง จะเป็นการจ่ายเบี้ยสั้น (ไม่เกิน 10 ปี) คุ้มครองจนถึงอายุ 80 ปี เป็นอย่างน้อย และจะระบุระยะของโรคร้ายแรงที่ตรวจพบ เช่น ระยะเริ่มต้น ระยะลุกลาม ระยะรุนแรง ซึ่งถ้ามีระยะเริ่มต้นด้วย จะส่งผลให้เบี้ยจะสูงขึ้น เนื่องจากความครอบคลุมมากขึ้น ยกตัวอย่าง หากเริ่มต้นทำประกันโรคร้ายแรง ครอบคลุม 81 โรคร้ายแรง อายุ 35 ปี เพศหญิง เบี้ยประกันอยู่ประมาณ 33,460 บาท (จ่ายเบี้ยคงที่เป็นเวลา 9 ปี หรือ 301,140 บาท) ทุนประกัน 500,000 บาท คุ้มครองชีวิตและโรคร้ายแรงจนกระทั่งอายุ 99 ปี หากก่อนอายุ 99 ปี ตรวจพบ เจอ จะมีการจ่ายคืนค่าสินไหมทดแทนให้ตามระยะของโรคร้ายแรง หรือ หากไม่เป็นโรคร้ายแรงจนกระทั่งอายุครบ 99 ปี จะได้เงินครบสัญญา 100% ของทุนประกัน (เท่ากับ 500,000 บาท ในกรณีตัวอย่าง) 

ทางเลือกไหนคุ้มค่ากว่าระหว่างทำประกันโรคร้ายแรง กับ เก็บเงินค่ารักษาเอง


สำหรับลูกค้าที่มีกำลังทรัพย์ จะมีทางเลือกมากกว่า ไม่ว่าจะกันเงินก้อนไว้สำหรับการรักษาเลย หรือ จะจ่ายเบี้ยประกันเพื่อคุ้มครอง แต่ถ้าคิดในมุมการเงิน จ่ายเบี้ยรวม 9 ปี (เพศหญิง อายุ 35 ปี) จำนวน 301,140 บาท และได้คุ้มครองตั้งแต่ปีแรกจนอายุ 99 ปี (โดยจะมีระยะเวลารอคอยหลังจากชำระเบี้ยปีแรกแล้ว) ถือเป็นการปิดความเสี่ยงได้ดีที่สุด 

สำหรับลูกค้าทั่วไป ที่อาจจะไม่ได้มีเงินก้อน หรือมีแต่ต้องนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นๆที่จำเป็นกว่า การทำประกันโรคร้ายแรงจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า

อย่างไรก็ดี การทำประกันโรคร้ายแรง จากตัวอย่างเพียงหนึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับการเตรียมค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรงเท่านั้น ยังมีแนวทางอื่นๆจากลักษณะของกรมธรรม์ เช่น ใช้ Unit-Linked เป็นเครื่องมือในการสร้างเงินก้อนเพื่อเตรียมเป็นค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ถือว่าเป็นการรองรับค่ารักษาพยาบาลด้วยการใช้เครื่องมือผ่านการลงทุนและความคุ้มครองผ่านประกันสุขภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสประหยัดต้นทุนได้มากกว่า ซึ่งอาจจะต้องเปรียบเทียบกับวิธีการเก็บเงินเอง ที่นักลงทุนมักจะมองว่าผลตอบแทนที่ดีกว่าก็สามารถสร้างเงินก้อนสำหรับค่ารักษาพยาบาลได้เช่นกัน ดังนั้น หากจะเปรียบเทียบในเชิงความคุ้มค่าต้องศึกษารายละเอียดทั้งในมุมของการลงทุน และการป้องกันความเสี่ยงผ่านกรมธรรม์ ว่าวิธีใดจะเป็นประโยชน์และคุ้มค่ากว่ากัน

Disclaimer : “รายละเอียดของตัวอย่างกรมธรรม์ เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น หากสนใจผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โปรดศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขรายละเอียดความคุ้มครองอีกครั้ง”



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!