12 มกราคม 2566
2 นาที
ประเด็นร้อน: ประกาศเงินเฟ้อสหรัฐฯ ธ.ค. ชะลอตัวต่อเนื่อง
"
• วันที่ 12 ม.ค. 66 สำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.5% (YoY) แต่ลดลง 0.1% (MoM) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core CPI) เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 5.7% (YoY) และ 0.3% (MoM)
• CME FedWatch Tool สะท้อนว่านักลงทุนคาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 4.75-5.00% ภายในเดือน มี.ค. 66 ขณะที่การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปที่ระดับ 4.50-4.75%
"
อัปเดตข่าว/สถานการณ์
วันที่ 12 ม.ค. 66 สำนักสถิติแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 6.5% (YoY) แต่ลดลง 0.1% (MoM) ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core CPI) เดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 5.7% (YoY) และ 0.3% (MoM) โดยตัวเลขส่วนใหญ่เป็นไปตามคาดการณ์จากนักวิเคราะห์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดย 12 ม.ค. 66 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 0.34% ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.64% และดัชนี Dow Jones ปรับตัวขึ้น 0.64% เทียบกับวันก่อนหน้า โดยนักลงทุนคาดว่าอัตราเงินเฟ้อได้แตะระดับสูงสุดไปเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเจาะรายละเอียดดัชนีราคาผู้บริโภคแล้วพบว่า การลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินค้าประเภทพลังงาน ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวช้า (Sticky) เช่น ค่าบริการทางสาธารณสุข ค่าเดินทาง และค่าที่พักอาศัย ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จึงยังต้องติดตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อต่อไป เพราะหากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ก็จะกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อไปอีกนานด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับลงมาที่ระดับเป้าหมายเฉลี่ย 2%
ด้าน CME FedWatch Tool สะท้อนว่านักลงทุนคาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปที่ 4.75-5.00% ภายในเดือน มี.ค. 66 ขณะที่การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. 66 คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปที่ระดับ 4.50-4.75%
มุมมองการลงทุน
• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น ภายหลังอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามราคาสินค้าในส่วนที่ยังเพิ่มขึ้นอยู่ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้อีก
• ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวยังเป็นความท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในปีนี้ โดยหุ้นกลุ่มที่น่าสนใจควรมีรายได้และกำไรที่เติบโตสม่ำเสมอ รวมถึงโครงสร้างธุรกิจแข็งแกร่งพอรับมือสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
อัปเดตข่าว/สถานการณ์อื่นที่น่าสนใจ
11 ม.ค. 66 ราคาน้ำมันดิบ WTI Spot ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้น +4.17% เทียบกับวันก่อนหน้า และสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ส่งมอบเดือนก.พ. เพิ่มขึ้น +2.29 ดอลลาร์ หรือ +3.1% ปิดที่ 77.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคากองทุน K-OIL ณ 11 ม.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +2.52% เทียบกับวันก่อนหน้าเช่นกัน
ทำไมราคาน้ำมันดิบถึงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากมุมมองบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียจะลดลงเนื่องจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรจากการที่ชาติตะวันตกกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย
ด้านเอดเวิร์ด โมยา นักวิเคราะห์จากบริษัท OANDA กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปิดประเทศของจีนจะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจทั่วโลก และจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวขึ้นด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก
ทั้งนี้ มุมมองบวกเกี่ยวกับราคาน้ำมันดิบดังกล่าวได้บดบังปัจจัยลบจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ พุ่งขึ้น 19 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.2 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ การที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาชะลอตัวลงตามที่คาดการณ์อาจทำให้ FED ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันดิบเนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้ราคาสัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้นมีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองสกุลเงินอื่นๆ
คำแนะนำการลงทุน
• ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุนหุ้นไทย เช่น K-STAR และกองทุนหุ้นจีน เช่น K-CHX เพื่อรับอานิสงส์จากการลดมาตรการควบคุม COVID-19 ของประเทศจีน ที่จะช่วยหนุนการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในทั้งประเทศจีนและไทย
• สำหรับนักลงทุนที่มีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจปี 2023 ที่อาจชะลอตัว แนะนำพิจารณาลงทุนกองทุน Healthcare ผ่าน K-GHEALTH ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ ทนทานต่อสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว
• ผู้ที่ถือถือกองทุนน้ำมัน เช่น K-OIL แนะนำให้พิจารณาขายคืนทั้งหมดหากมีกำไร โดยหากพิจาณาผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี (ณ 11 ม.ค. 66) พบว่ากองทุน K-OIL ยังคงมีผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ +2.62 % +11.02% และ +5.44% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ไม่แนะนำให้ลงทุน
• สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, ryt9
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
บทความโดย K WEALTH TRAINER วีรพล บางแวก