K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : BOJ ปรับนโยบายการเงิน กดดันหุ้นญี่ปุ่น แนะเป็นโอกาสทยอยลงทุนเพิ่ม
22 ธันวาคม 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : BOJ ปรับนโยบายการเงิน กดดันหุ้นญี่ปุ่น แนะเป็นโอกาสทยอยลงทุนเพิ่ม




"


● ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% 


● BOJ ยังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ 9 ล้านล้านเยนต่อเดือน


● แนะนำถือหรือลงทุนต่อในกองทุนหุ้นญี่ปุ่น เช่น กองทุน K-JP, K-JPX และติดตามทิศทางค่าเงินเยน


"

  

อัปเดตสถานการณ์ญี่ปุ่น 


วันที่ 20 ธ.ค. 65 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ 9 ล้านล้านเยนต่อเดือน หรือประมาณ 6.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันที่ 7.3 ล้านล้านเยนต่อเดือน โดยมีเป้าหมายที่จะตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ 0% 

นอกจากนี้ BOJ ยังได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ทั้งที่ประธาน BOJ นาย Haruhiko Kuroda เน้นย้ำก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการปรับกรอบการเคลื่อนไหวดังกล่าว และตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า BOJ จะยังไม่ปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินใดๆ ก่อนที่นาย Kuroda จะออกจากตำแหน่งในเดือนเม.ย. ปี 2566 แม้ว่า BOJ ได้ระบุถึงสาเหตุของการปรับกรอบการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่าเป็นเพียงการทำให้กลไกของตลาดพันธบัตรดีขึ้นก็ตาม แต่การประกาศขยายกรอบเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ตลาดเริ่มคาดว่า BOJ เตรียมดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวในลำดับถัดไป


ผลกระทบที่เกิดขึ้น 


หลังจากที่ BOJ ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งผลให้ดัชนี NIKKEI ร่วงลงกว่า 500 จุด โดยวันที่ 20 ธ.ค. ดัชนี NIKKEI 225 ปิดลบ -2.46% เทียบกับวันก่อนหน้า ส่งผลให้ราคากองทุนหุ้นญี่ปุ่นอย่างกองทุน K-JP และ K-JPX ณ 20 ธ.ค. ปรับตัวลดลง -1.99% และ -1.01% เทียบกับวันก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่เงินเยนแข็งค่าพุ่งขึ้นกว่า 2% สู่ระดับ 133.43 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ากว่า 3% 

นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอย่างเหนือความคาดหมายของ BOJ อาจจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนได้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ BOJ ได้ยึดมั่นในนโยบายผ่อนคลายการเงินด้วยการควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยเชื่อว่าจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงได้ 

ทั้งนี้ BOJ ได้ดำเนินนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control: YCC) มาตั้งแต่ปี 2559 โดยการเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงอายุที่ระบุเพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้อยู่ในระดับที่กำหนด โดย BOJ มีนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2% มาเป็นระยะเวลานาน ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐาน (Core CPI) เดือนต.ค. ของญี่ปุ่นได้ขยับขึ้นมาแตะระดับ 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคขั้นพื้นฐานเดือน พ.ย. ตลาดคาดว่าจะขึ้นไปแตะระดับ 3.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จากต้นทุนการนำเข้าสินค้าในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น 


คำแนะนำการลงทุน


ค่าเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น หาก BOJ เริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อจากนี้ ผู้ที่มีความต้องการใช้เงินเยน ให้ติดตามทิศทางค่าเงินเยนต่อจากนี้

ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นญี่ปุ่น เช่น K-JP, K-JPX แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม สามารถทยอยลงทุนเพิ่มได้ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ราคากองทุนมีความผันผวน โดยราคากองทุน ณ 19 ธ.ค. 65 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาช่วงปลายเดือนม.ค. 65 แต่เป็นราคาที่ขาดทุน -4.14% เมื่อเทียบกับราคา ณ 25 พ.ย. 65 อย่างไรก็ตาม กองทุนยังคงมีผลการดำเนินงานรวมเงินปันผลย้อนหลัง 3 ปี และ 5 ปี ที่เป็นบวกอยู่ 

สำหรับผู้ที่กังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก  ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Ryt9, กรุงเทพธุรกิจ

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


​​

บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®
FED ขึ้นดอกเบี้ยรอบสุดท้ายของปีนี้ กระทบเศรษฐกิจโลกและการลงทุนปี 2566 อย่างไร
ประเด็นร้อน : ECB ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง กดดันหุ้นยุโรป แนะลดสัดส่วนลงทุน
ส่องกองหุ้นญี่ปุ่นพื้นฐานดี สร้างโอกาสรับผลตอบแทนดีในระยะยาว
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!