K WEALTH / บทความ / Wealth Management / ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อรัฐฯเริ่มเก็บ ภาษีขายหุ้น
25 มกราคม 2566
10 นาที

ต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อรัฐฯเริ่มเก็บ ภาษีขายหุ้น


​"


• ภาษีขายหุ้น เก็บทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมขายหลักทรัพย์ โดยจะเก็บภาษีไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุน โดยปี 2566 เก็บที่อัตรา 0.055% และ ตั้งแต่ปี 2567 เก็บที่อัตรา 0.11%



• ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการเก็บภาษีขายหุ้น หลายประเทศก็มีการเก็บ และเก็บแตกต่างกันไป เช่น ภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ ภาษีเงินปันผล หรือ ภาษีขายหุ้นแบบประเทศไทย


• การเก็บภาษีขายหุ้น ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน HFT Robo Trade และกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย ทำให้ต้องมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกัน เช่น อาจต้องขยับช่องกำไรมากขึ้น ลดการเทรดลง ถือยาวขึ้น หรือการลงทุนในกองทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้น เช่น RMF PVD 


"


29 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการยกเลิกกฎหมายยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น หรือหลักทรัพย์อื่นๆ (Financial Transaction Tax) ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ 16,000 ล้านบาทต่อปี


ภาษีขายหุ้นคืออะไร?


ภาษีขายหุ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดหมู่ของภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีที่คำนวณ และเก็บภาษีจากทุกธุรกรรมการขายหลักทรัพย์ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะกำไร หรือขาดทุนก็ต้องเสียภาษี โดยในปี 2566 จัดเก็บในอัตรา 0.055% ของทุกมูลค่าการขายก่อนหักค่าธรรมเนียม และ และตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.11% ของทุกมูลค่าการขายก่อนหักค่าธรรมเนียม ซึ่งทางโบรกเกอร์ หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้จัดเก็บ และส่งให้กับกรมสรรพากร โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีอีก

หากคำนวณจากทุกๆการขายหลักทรัพย์มูลค่า 1 ล้านบาท ในปี 2566 จะต้องเสียภาษี 550 บาท/ธุรกรรมขาย และตั้งแต่ปี 2567 จะต้องเสียภาษี 1,100 บาท/ธุรกรรมขาย ซึ่งหากรวมค่าธรรมเนียมการซื้อ และขายหลักทรัพย์มูลค่า 1 ล้านบาทในหนึ่งธุรกรรม โดยเฉลี่ยของตลาดมีค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2,200 บาท จะทำให้ปีแรก ต้นทุนการซื้อขายต่อธุรกรรมเพิ่มขึ้น 25% หรือคิดเป็น 2,750 บาท และปีถัดไป ต้นทุนการซื้อขายต่อธุรกรรมเพิ่มขึ้น 50% หรือคิดเป็น 3,300 บาท ทั้งนี้การจัดเก็บภาษีขายหุ้นก็ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยเท่านั้น


แนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของต่างประเทศ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย(KResearch) รายงานว่าต่างประเทศมีการเก็บภาษีเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์หลายรูปแบบ โดยประเทศที่เก็บภาษีขายหุ้น ไม่ว่าจะกำไรหรือขาดทุนซึ่งคล้ายกับไทย ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน แต่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เยอรมนี จะไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้นลักษณะเดียวกับไทย แต่จะเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) ในอัตราที่ค่อนข้างสูง

ขณะที่ภาษีเงินปันผลของไทยเก็บในอัตรา 10% ของเงินปันผล เท่ากับประเทศจีน อินโดนีเซีย แต่มากกว่าเวียดนามที่เก็บอัตรา 5% โดยภาพรวมประเทศเหล่านี้ก็ยังเก็บในอัตราที่น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี ที่เก็บภาษีเงินปันผลในอัตรา 20-30%

ทั้งนี้กระทรวงการคลังก็ได้ออกมาชี้แจงรายละเอียดหลักทรัพย์ที่จะถูกเก็บภาษี และไม่ถูกเก็บภาษีตัวนี้ออกมาบ้างแล้ว 


 

หลักทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีขายหุ้น


หลักทรัพย์ที่ถูกเก็บภาษีขายหุ้น หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้แก่ หุ้นสามัญ ,หุ้นบุริมสิทธิ ,ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ,ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant:DW) ,กองทุนรวม ETF ,ตารางแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ,หน่วยลงทุน ,ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ ทั้งนี้ก็จะมีหลักทรัพย์ หรือกลุ่มที่ไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้นด้วยเช่นกัน


กลุ่มที่ไม่ต้องเสียภาษีขายหุ้น


1.Market Maker

หรือผู้ดูแลสภาพคล่อง เป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่ทำให้หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น Derivative Warrant (DW), Depository Receipt (DR), Infrastructure Fund, REIT มีสภาพคล่องเพียงพอ ทำให้นักลงทุนสามารถซื้อหลักทรัพย์ตัวอย่างเหล่านี้ได้ง่าย ขายได้คล่อง ราคาซื้อขายไม่ห่างจนเกินไป ปริมาณการซื้อขายเพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน

2.กองทุนบำนาญ (Pension Fund) 

คือ กองทุนที่เราส่งเงินสะสม เงินสมทบ หรือซื้อกองทุน แล้วนำไปลดหย่อนภาษีได้ และได้ผลประโยชน์จากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ โดยกองทุนบำนาญที่ได้รับการยกเว้นภาษีขายหุ้นได้แก่ สำนักงานประกันสังคม ,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ,กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ,กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน(กองทุนสงเคราะห์ กระทรวงศึกษาธิการ) ,กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ,กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ,กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือกองทุนตาม(2)ถึง (6)

ทั้งนี้จากประกาศชี้แจงของกรมสรรพากร ไม่พบว่ามีรายชื่อของกองทุน Super Savings fund (SSF) อยู่ในรายชื่อกองทุนที่ได้รับการยกเว้นภาษี รวมถึงประกาศดังกล่าวยังไม่มีการพูดถึงการขอคืนภาษีจากการขายหลักทรัพย์ ว่าสามารถทำได้เหมือนการขอคืนภาษีเงินปันผลได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องติดตามกันต่อไป


ผลกระทบภาษีขายหุ้น


มุมนักลงทุน บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (KS) มองการเก็บภาษีขายหุ้นกระทบกับนักลงทุนโดยตรง โดยเฉพาะนักลงทุนที่ทำการซื้อขายบ่อยๆ จะมีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากดูค่าเฉลี่ยการซื้อขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการซื้อขายของตลาดเฉลี่ย 2,200 บาท/ธุรกรรม จะทำให้นักลงทุนมีต้นทุนสูงขึ้น 25% หากคิดจากภาษีขายหุ้น 550 บาท ในปี 2566 และ 50% คิดจากภาษีขายหุ้น 1,100 ที่เริ่มเก็บภาษีขายหุ้นตั้งแต่ปี 2567

มุมตลาดหุ้นไทย KS มองการเก็บภาษีขายหุ้นส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายให้ลดลง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการขึ้น หรือลงของตลาดหุ้นไทย เพราะภาษีขายหุ้นลดแรงจูงใจในการซื้อขายของนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่ม High-Frequency Trading (HFT) ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการซื้อขายคิดเป็น 20-30% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด และเมื่อปริมาณการซื้อขายปรับลดลง ส่งผลต่อ PE ของหุ้นลดลง และสุดท้ายความน่าสนใจในการนำธุรกิจเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยก็ลดลงตาม ทั้งนี้ในระยะยาวทั้งนักลงทุน และตลาดหุ้นไทยก็น่าจะปรับตัวกับการเก็บภาษีขายหุ้นได้

มุมกองทุนรวม ที่ลงทุนในหุ้นไทย หรือกองทุนผสมที่ลงทุนหุ้นไทยบางส่วน ก็จะได้รับผลกระทบทั้งประเภทกองทุนรวมที่มีผู้จัดการคอยบริหาร ซึ่งมีการซื้อขายบ่อย หรือ แม้แต่กองทุนดัชนีที่ต้องปรับสัดส่วนบ่อย เพื่อให้ล้อไปกับดัชนีอ้างอิง เช่น SET50  ก็ถูกเก็บภาษีขายหุ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งกองทุนจะถูกเก็บมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการขายของกองทุนนั้นๆ โดยสะท้อนออกมาในรูปของ Portfolio Turnover Ratio  หรืออัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุน ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงความถี่ในการปรับพอร์ตการลงทุน ยิ่งตัวเลขสูง แปลว่ากองทุนนี้ปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนบ่อย ซื้อขายบ่อย ทำให้ถูกเก็บภาษีขายหุ้นเยอะ โดยตัวเลข Portfolio Turnover Ratio หรือ อัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนสามารถดูรายละเอียดได้ใน Fund Fact Sheet


บริหารจัดการอย่างไรดี


นักเก็งกำไร HFT และ Robo Trade อาจต้องขยับช่องกำไรให้สูงขึ้น เพื่อให้ปริมาณกำไรเพียงพอกับภาษีขายหุ้นที่เพิ่มขึ้นมา หรืออาจต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การเทรด เพิ่มการ Let Profit Run มากขึ้น เป็นต้น

นักลงทุนที่ลงทุนผ่านกองทุนรวม หากต้องการลงทุนหุ้นไทยระยะยาวอยู่แล้ว และเข้าใจเงื่อนไขของกองทุนรวม RMF/PVD อยู่แล้ว ทางเลือกการลงทุนกองทุนรวม RMF/PVD เหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ เพราะไม่ถูกเก็บภาษีขายหุ้น

หากไม่สะดวกลงทุนกองทุนหุ้นไทย หรือกองทุนผสมหุ้นไทย ผ่าน RMF/PVD การเลือกกองทุนรวมที่มีค่า Portfolio Turnover Ratio อยู่ระดับต่ำ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องดูผลการดำเนินงานของกองทุนรวมทั้งในระยะสั้น และระยะยาวด้วย

เรื่องภาษีขายหุ้นต้องติดตามรายละเอียดหลังจากการประกาศเป็นกฎหมายกันต่อไป จะขอคืนภาษีขายหุ้นได้หรือไม่ กองทุน SSF ถูกเก็บภาษีขายหุ้นด้วยหรือเปล่า และประเด็นต่างๆที่ยังไม่ชัดเจนต่างเป็นประเด็นที่ปัจจุบันทางกรมสรรพากรก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ จนกว่าจะมีการประกาศเป็นกฎหมาย แต่ทั้งนี้เราก็สามารถคิด และวางแผนได้ล่วงหน้าจากข้อมูลที่มีได้ระดับหนึ่ง หรืออาจเริ่มมองการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อมองหาผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว 



บทความโดย K WEALTH TRAINER มนัสวี เด็ดอนันต์กุล AFPT™

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!