K WEALTH / บทความ / Wealth Management / รู้จักวิธีบริหารจัดการภาษี ง่ายๆ และคุ้มค่า
03 พฤศจิกายน 2565
2 นาที

รู้จักวิธีบริหารจัดการภาษี ง่ายๆ และคุ้มค่า


​​​​​​​​"


● ภาษีที่ถูก HR หักไปในแต่ละเดือน มักสูงกว่าภาษีจริงที่ควรจ่าย เพราะ HR ยังไม่รู้ว่าเรามีค่าลดหย่อนอื่นอะไรอีกบ้าง จึงเป็นเรื่องปกติที่หลายคนจะขอคืนเงินภาษีจากสรรพากร


● ทางเลือกเก็บเงินยอดฮิต ที่สามารถต่อเงินให้งอกเงยพร้อมไปกับการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและใช้กันเป็นปกติอยู่ทุกปี ได้แก่ กองทุน SSF กองทุน RMF และประกันชีวิต


● การลงทุนกองทุน SSF/RMF นอกจากทำได้ทันทีบนมือถือโดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีกองทุนมาก่อนแล้ว ยังสามารถเลือกหักเงินจากบัตรเครดิตที่มีได้ แล้วรอนำเงินไปจ่ายค่าบัตรเครดิตในอีก 15-45 วันก็ยังได้


"


เงินที่ได้ในแต่ละเดือน เคยเช็กสลิปเงินเดือนกันบ้างไหมว่าถูกหักภาษีไปเท่าไร แล้วคนส่วนใหญ่ที่ขอภาษีคืนกันเขาทำกันอย่างไร บทความนี้จะมาเคลียร์ข้อสงสัยนี้ให้ทุกคนกัน


I: เงินเดือนเท่านี้ ถูกหักภาษีไปเท่าไร


 ตารางแสดงภาษีที่ต้องจ่ายตามฐานเงินเดือน

* สมมติฐาน พนักงานมีรายได้เฉพาะเงินเดือน ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และเงินสมทบประกันสังคม 6,300 บาท (อัตราสูงสุดปี 2565)

HR หรือนายจ้าง มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากรายได้หรือเงินเดือนที่จ่ายให้กับพนักงาน ซึ่งโดยปกติ HR จะคาดการณ์ภาษีเงินได้ที่พนักงานต้องจ่ายให้สรรพกรโดยคำนวณจากข้อมูลเท่าที่ HR รู้ ได้แก่ (1) รายได้ เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าจ้างต่างๆ ที่บริษัทจ่ายให้แก่พนักงาน และ (2) ค่าลดหย่อน เช่น ลดหย่อนส่วนตัว เงินสมทบประกันสังคม และเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เท่านั้น

โดยภาษีที่ HR คำนวณและหักไป กับภาษีที่พนักงานแต่ละคนต้องจ่ายให้สรรพากรอาจตรงหรือไม่ตรงกันก็ได้ และพนักงานทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้ในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของทุกปีไม่ว่าจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเท่าไรก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับคนที่ไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อนอื่น เช่น คนโสด ไม่มีการผ่อนบ้าน ไม่มีการซื้อประกัน กองทุน SSF กองทุน RMF ฯลฯ ภาษีที่ HR หักไว้รวมทั้งปีมักเท่ากับภาษีที่คำนวณได้ตอนที่ยื่นกับสรรพากร ทำให้คนวัยเริ่มต้นทำงานช่วงแรกๆ มักไม่มีการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอภาษีคืน จนเป็นความเคยชินหรือเข้าใจผิดว่า เมื่อ HR หักภาษีเงินได้ส่งสรรพากรไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนภาษีอีก ทั้งที่ในความเป็นจริงสำหรับคนที่มีค่าลดหย่อนอื่นอยู่ หรือมีการวางแผนภาษี จะสามารถขอคืนภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนที่ถูกหักไปได้


II: ภาษีที่ถูกหักไป ใครๆ ก็ขอคืนได้


ลดหย่อนภาษี​ไม่จำเป็นต้องเกิดจากความตั้งใจเสมอไป ค่าลดหย่อนบางอย่างก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากสถานภาพ ธุรกรรม หรือการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น

● คนที่มีบุตรหรือกำลังจะมีบุตร


     o ค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตร สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 60,000 บาทต่อการตั้งครรภ์

     o บุตร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี หรืออายุ 21-25 ปี แต่ยังเรียนระดับอุดมศึกษา สามารถลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000 บาท

     o บุตรคนที่สองขึ้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนเพิ่มได้อีกคนละ 30,000 บาท (รวมเป็น 60,000 บาท)

คนที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา นับตั้งแต่ปีที่บิดาหรือมารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปีที่บิดาหรือมารดามีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี สามารถลดหย่อนบิดาหรือมารดาได้คนละ 30,000 บาท

คนที่กู้ซื้อบ้าน สามารถนำดอกเบี้ยที่จ่ายจริงทั้งปีมาลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท

ส่วนจะขอคืนภาษีได้เท่าไรก็ขึ้นกับรายได้หรือฐานภาษีแต่ละคน ตัวอย่างเช่น คนที่มีสิทธิลดหย่อนบุตร/บิดา/มารดา หรือดอกเบี้ยบ้าน จำนวน 30,000 บาท สามารถขอคืนภาษีได้ประมาณปีละ 3,000 บาท สำหรับคนเงินเดือน 50,000 บาท และขอคืนภาษีได้ 7,500 บาท สำหรับคนเงินเดือน 100,000 บาท เป็นต้น

ยิ่งใครมีค่าลดหย่อนเยอะ ก็สามารถขอคืนภาษีได้มากขึ้น โดยนำค่าลดหย่อนที่มีไปกรอกพร้อมกับรายได้ที่ได้รับทั้งปีตอนยื่นภาษีในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายสรรพากร และเปรียบเทียบกับภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไป ว่ามีจำนวนเงินภาษีที่ถูกหักเกินไปเท่าไร เพื่อทำการขอคืนจากสรรพากรได้


III: อยากขอภาษีคืนเพิ่ม มีตัวช่วยอะไรบ้าง


ตัวช่วยลดหย่อนภาษีที่เป็นทางเลือกยอดนิยมคงหนีไม่พ้นกองทุน SSF กองทุน RMF และประกันชีวิต ซึ่งเงินที่ใช้เป็นค่าลดหย่อนสำหรับทางเลือกเหล่านี้นอกจากช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังกลายเป็นเงินเก็บต่อยอดให้งอกเงยได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

กองทุน SSF ที่ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 10 ปีเต็ม เช่น กองทุน K-GINCOME-SSF ซึ่งเป็นกองทุนรวมผสม กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ระหว่างถือหน่วยลงทุน อาจได้รับเงินปันผลไม่เกินปีละ 4 ครั้ง ขึ้นกับผลการดำเนินงานในแต่ละรอบบัญชี

กองทุน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ไปจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์และไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม เช่น กองทุน KVIETNAMRMF ที่เน้นลงทุนหุ้นเวียดนาม ซึ่งเป็นหุ้นของประเทศที่หลายคนกำลังให้ความสนใจและพูดถึงในช่วงนี้

ประกันชีวิต OnePlus 10/1 (Y22) ที่เก็บเงินด้วยการจ่ายเบี้ยประกันปีแรกเพียงปีเดียว มีเงินคืนปีเว้นปีในจำนวนที่แน่นอน ตั้งแต่สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 2 และได้รับเงินก้อนครบสัญญาตอนสิ้นปีที่ 10 ปี

หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 65 เพื่อขอคืนภาษีช่วง ม.ค.-มี.ค. 66 ต้องมีการลงทุนกองทุน SSF/RMF หรือจ่ายเบี้ยประกันชีวิตภายในสิ้นปี 2565 นี้ โดยทางเลือกทั้ง 3 ที่เล่ามา หากใครมี Mobile Banking ก็สามารถใช้สิทธิได้ทันทีผ่านมือถือ เช่น ใครที่มี K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย อยู่ในมือถือ ก็สามารถ

ลงทุนกองทุน SSF/RMF ได้

     o ที่เมนู “ลงทุน” บน K PLUS เพื่อลงทุนได้ทันที โดยหักเงินจากบัญชีเงินฝากที่มีอยู่

     o กรณียังไม่มีบัญชีกองทุน หลังจากที่เลือกกองทุนที่ต้องการซื้อบน K PLUS แล้ว ก็สามารถดำเนินการเปิดบัญชีกองทุนและลงทุนได้ทันทีบนมือถือเช่นกัน

     o ส่วนคนที่ต้องการลงทุนกองทุน SSF/RMF ด้วยบัตรเครดิต ก็สามารถทำได้บน K PLUS  เพียงเลือกหักเงินจากบัตรเครดิตที่ผูกกับ K PLUS อยู่

ซื้อประกันชีวิต OnePlus 10/1 (Y22) ที่เมนู “ประกัน” โดยปัจจุบันเลือกชำระค่าเบี้ยประกันด้วยการหักเงินจากบัญชีเงินฝากเท่านั้น ยังไม่สามารถเลือกตัดบัตรเครดิตได้ แต่หากเป็นประกันชีวิตแบบอื่นสามารถซื้อได้ด้วยบัตรเครดิตที่ธนาคารกสิกรไทยทุกสาขา


ขอคืนภาษี เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำกัน อีกทั้งเป็นสิ่งที่สรรพากรเปิดโอกาสให้เราใช้สิทธิลดหย่อนได้อย่างเต็มที่ เห็นได้จากที่สรรพากรมีการลดหย่อนภาษีให้เลือกหลากหลายทั้งกองทุน SSF/RMF หรือประกันชีวิต ขอเพียงเราเข้าใจในเงื่อนไขและเลือกใช้ให้เหมาะกับตนเอง สำหรับใครที่ไม่เคยลงทุนมาก่อนแนะนำเริ่มต้นที่กองทุน K-FIXEDPLUS-SSF หรือกองทุน KSFRMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ มูลค่าไม่ค่อยผันผวน สามารถซื้อได้ทันทีด้วยบัตรเครดิตบน K PLUS และถือลงทุนได้ด้วยความสบายใจ เพียงเท่านี้ก็ได้เงินคืนภาษีเข้าบัญชีหรือเป็นเช็คส่งมาที่บ้านแล้ว



บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ