K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : เงินเฟ้อพุ่งสะเทือนตลาดหุ้นทั่วโลก ได้จังหวะปรับพอร์ตฟิต กองทุนไหนจะได้ไปต่อ
15 กันยายน 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : เงินเฟ้อพุ่งสะเทือนตลาดหุ้นทั่วโลก ได้จังหวะปรับพอร์ตฟิต กองทุนไหนจะได้ไปต่อ


​​​​​​​“

• ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักเคราะห์ ทำให้ตลาดกังวลว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยแรงและต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม


• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงกว่า 3%ในวันเดียว ส่วนตลาดหุ้นอื่นอีกหลายประเทศก็ปรับตัวลงเช่นกัน



13 ก.ย. 65 สหรัฐฯ ประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 65 มีการเพิ่มขึ้น 8.3% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8.1% ทำให้ตลาดกังวลว่า FED จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นอีก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จึงปรับตัวลง 3.94%-5.15% ภายในวันเดียว



ตลาดหุ้นและกองทุน ที่ได้รับผลกระทบ


• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดแรกที่ปรับตัวลง หลังการประกาศ CPI โดย ณ 13 ก.ย. ดัชนี Dow Jones -3.94% S&P500 -4.32% และ Nasdaq -5.16%เทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งผลตอบแทนของ S&P500 และ Nasdaq ดังกล่าวถือว่าทำได้แย่ที่สุดนับแต่ มิ.ย. 2563 ส่งผลให้


     o กองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ราคาปรับตัวลงแรงเช่นกัน อย่างกองทุน K-US500X -4.50% กองทุน K-USA -5.28% และกองทุน K-USXNDQ -5.71% 


     o กองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ราคาก็ปรับตัวลงในวันเดียวกันนั้นเช่นกัน อย่างกองทุน K-WORLDX -4.13% กองทุน K-GLOBE -3.42% กองทุน K-GHEALTH -2.35% กองทุน K-GPROP -2.24% กองทุน K2035RMF -3.40% และกองทุน K2040RMF -3.40% 


     o อย่างไรก็ตาม บางกองทุนโดยเฉพาะกองทุนรวมผสมแม้จะไม่ได้มีการปรับตัวลงแรงใน 1 วัน เนื่องจากมีการกระจายลงทุนในสินทรัพย์หรือตลาดหุ้นที่หลกกหลาย แต่เนื่องจากตลาหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนผสมอย่างกองทุน K-GA และกองทุน K-ALLGROWTH-UI ปรับตัวลดประมาณ 4%-6% เทียบกับ 1 เดือนที่ผ่านมา


• ส่วนตลาดหุ้นภูมิภาคอื่น ที่วันรุ่งขึ้น (14 ก.ย.) มีการปรับตัวลดลงเทียบกับวันก่อนหน้า หลังประกาศเลข CPI เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ ได้ปิดทำการไปก่อนสหรัฐฯ เช่น 


     o กองทุนหลักของ K-EUROPE (Allianz Europe Equity Growth) -3.40% ซึ่งมีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุกและเน้นหุ้น Growth Stock จึงมีความผันผวนและได้รับผลกระทบจากทอศทางดอกเบี้ยมากกว่าตลาดหุ้นยุโรปโดยรวม เช่น ดัชนี Euro Stoxx 50 ที่ -1.65% และ -0.52% ในวันที่ 13 และ 14 ก.ย. ตามลำดับ 


     o ตลาดหุ้นฮ่องกง เช่น ดัชนี Hang Seng -2.48% Hang Seng China Enterprise -2.45% ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เช่น Nikkei 225 -2.78% ส่วนตลาดหุ้นไทย ปรับตัวลงเล็กน้อย เช่น ดัชนี SET -0.27% โดย ณ 13 ก.ย. กองทุน K-ASIAX -3.09% กองทุน K-ASIA -2.58% กองทุน K-SEMQ (ลงทุนหุ้นในตลาดเกิดใหม่) -3.13% 


      ส่วนกองทุนหลักของ K-OIL (DB Oil Fund) ที่ ณ 13 ก.ย. ราคาปรับตัวลงเล็กน้อย -0.66% แต่ในวันต่อมาก็มีการปรับตัวขึ้น +1.20% จากรายงานของ OPEC ที่ยังคงคาดการณ์การเติบโตของความต้องกาน้ำมันทั่วโลกที่แข็งแกร่งในปี 2565 และ 2566



เงินเฟ้อสหรัฐฯ เป็นอย่างไร

“เงินเฟ้อทั่วไป” ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค.ปรับตัวขึ้น 8.3%เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.1% โดยในส่วนของ “เงินเฟ้อพื้นฐาน” ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.3% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 6.1% เช่นกัน


แม้ “เงินเฟ้อทั่วไป” จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากระดับ 8.5% เมื่อเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ราคาอาหารก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาค่าเช่าบ้าน รถยนต์และการให้บริการทางการแพทย์ก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ “เงินเฟ้อพื้นฐาน” เร่งตัวสูงขึ้น โดยขยายตัว 6.3%เทียบกับเดือน ก.ค. ที่ขยายตัวเพียง 5.9%



สาเหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลง

หากพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. ประกอบกับรายงานดัชนีภาคการบริการก่อนหน้านี้ที่เติบโตอย่างโดดเด่น รวมถึงตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง สะท้อนว่าการแก้ปัญหาเงินเฟ้ออาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย


โดย FED จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตลาดจึงคาดว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดึงสภาพคล่องออกจากระบบอย่างต่อเนื่อง โดย CME FedWatch Tool ชี้ว่าการประชุม FED​ วันที่ 21 ก.ย. นี้ มีโอกาสสูงถึง 38% ที่จะขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 1% และมีโอกาส 62% ที่ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% และไม่มีโอกาสที่จะเห็น Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เลย


ซึ่งก่อนการรายงานเงินเฟ้อครั้งนี้ ไม่มีนักวิเคราะห์รายใดคาดว่า Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ส่วนการประชุมเดือน พ.ย. มีโอกาส 50% ที่จะเห็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ซึ่งหากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่อาจเห็นได้ในปีหน้า ตัวเลขคาดการณ์ได้ขยับจากระดับ 3.75% – 4.00% ในช่วงก่อนนี้ ขึ้นมาอยู่ที่ 4.25% – 4.50% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะสะท้อนต้นทุนทางการเงินของบริษัทและประชาชนทั่วไป ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่นทั่วโลก



มุมมองการลงทุน

คาดว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลก จะยังผันผวนในช่วงก่อนการประชุม FED 20-21 ก.ย. ทั้งนี้การที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีโอกาสการทรงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น


Bloomberg consensus คาดการณ์ว่าโอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นไปที่ 50% โดย KAsset ประเมินว่าคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสถูกปรับลงได้อีกจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงส์ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง



คำแนะนำการลงทุน

ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ (เช่น K-USA, K-US500X, K-USXNDQ) อยู่ แนะนำให้ถือต่อและรอประเมินสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชัดเจน ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้


ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ และลงทุนได้ระยะยาว แนะนำพิจารณาทางเลือกในการแบ่งเงินลงทุนบางส่วนมาทยอยลงทุนกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX, K-CHINA, K-CCTV) กองทุนหุ้นเวียดนาม (เช่น K-VIETNAM) เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนในระยะยาว


สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Infoquest


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”​




บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

กลยุทธ์ปรับพอร์ต รับ ECB ขึ้นดอกเบี้ย สกัดเงินเฟ้อ
เปรียบเทียบ 3 กลยุทธ์บริหารพอร์ตของกลุ่ม “กองทุนหุ้นเวียดนาม”
เปิดโผ 4 ปัจจัย หนุนหุ้นจีนแกร่งขึ้นระยะยาว