K WEALTH / บทความ / Product Review / เปรียบเทียบ 3 กลยุทธ์บริหารพอร์ตของกลุ่ม “กองทุนหุ้นเวียดนาม”
30 สิงหาคม 2565
3 นาที

เปรียบเทียบ 3 กลยุทธ์บริหารพอร์ตของกลุ่ม “กองทุนหุ้นเวียดนาม”


​​​​​“

• ตลาดหุ้นเวียดนาม ปรับตัวลดลงนับจากต้นปี 2565 ประมาณ 20% (จาก 1,500 จุด ลงมาที่ประมาณ1,200 จุด) นอกเหนือจากการปรับลดลงตามตลาดทุนทั่วโลกแล้ว ยังมาจากความกังวลจากข่าวการปั่นหุ้นของประธานบริษัทอสังหาฯยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของเวียดนาม การตรวจสอบการคอรัปชั่นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน และการใช้ Margin ของนักลงทุนรายย่อยในเวียดนามที่อยู่ในระดับสูงเมื่อหุ้นลงหนัก จึงถูกบังคับขาย (Force Sell) ไปด้วย


• อย่างไรก็ตามในระยะยาว ตลาดเวียดนามยังคงมีแนวโน้มที่ดี ไม่ว่าจากปัจจัยพื้นฐาน เช่น การเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ การทุ่มงบประมาณของภาครัฐสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และ ปัจจัยสนับสนุนเชิงประชากรศาสตร์ที่เวียดนามมีวัยแรงงานสูงถึง 61% ของประชากรทั้งประเทศ เป็นต้น


• กองทุนหุ้นเวียดนามที่มีการเสนอขายในตลาดแบ่งเป็น 2 กลุ่มได้ดังนี้ 1. กองทุนที่ลงทุนหุ้นเวียดนามโดยตรงเป็นหลัก (K-VIETNAM อยู่ในกลุ่มนี้) 2. กองทุนที่ลงทุนในกองทุนต่างประเทศหรือ ETF ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม (Fund of Funds) ซึ่งอาจช่วยเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้



การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ช่วงต้นปี ได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ และส่งผลกระทบให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีการชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงไปได้ดี โดยทาง IMF ได้คาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP ประเทศเวียดนามว่าจะเติบโตสูงที่สุดใน 5 ประเทศแถบอาเซียนด้วยกัน


ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่กดดันให้ตลาดหุ้นเวียดนาม​ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจหรือไม่ และหากน่าสนใจลงทุน จะมีวิธีพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุนเวียดนามอย่างไร แต่ละกองทุนมีจุดเด่นและข้อระวังเรื่องอะไรบ้าง บทความนี้จะเล่าให้ฟัง



เกิดอะไรขึ้นกับกองทุนหุ้นเวียดนามตั้งแต่ต้นปี


2 ปัจจัยลบระยะสั้นในประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นเหตุให้กองทุนรวมหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงผสมกับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก


ปัจจัยแรก 

คือ ความกังวลในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และธนาคารพาณิชย์จากข่าวที่ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในประเทศรายหนึ่ง ถูกจับข้อหาปั่นหุ้นและปกปิดข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2022 ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามเข้ามาตรวจสอบหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรวจสอบได้ครอบคลุมไปถึงการปล่อยกู้ของธนาคาร และการตรวจสอบการคอรัปชั่นของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง


ปัจจัยที่สอง 

คือ เรื่องของการใช้ Margin ของนักลงทุนรายย่อยเพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม เมื่อตลาดปรับตัวลงทำให้เกิดการเทขายอย่างหนักจากการบังคับขาย (Force Sell) ในช่วงที่ผ่านมา


นอกจากนี้ตลาดหุ้นเวียดนามก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก อาทิ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนทำให้ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นอื่นปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ การปรับเพิ่มดอกเบี้ยของ FED รวมถึงธนาคารกลางทั่วโลก ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง



ทำไมกองทุนรวมหุ้นเวียดนามยังน่าสนใจในระยะยาว

1) ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดย GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ที่ประกาศออกมาปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 7.7% (เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว : YoY) ในขณะที่ดัชนี VN ซึ่งเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเวียดนาม ปรับตัวลดลงจากบริเวณ 1,500 จุด ในช่วงต้นปี 65 ลงมาบริเวณ 1,200 จุด ในช่วงกลางปี 65 ที่ผ่านมา หรือลดลงมาประมาณ 20% ทำให้ตลาดเวียดนามปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ


2) ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐบาล ในการส่งเสริมการส่งออก และเพิ่มการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment : FDI) ในเวียดนาม รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณกว่า 5% ของ GDP เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ถือว่าเป็นการใช้งบประมาณด้านนี้ที่สูงสุดในแถบประเทศในอาเซียน


3) ในเชิงประชากรศาสตร์ ประเทศเวียดนามมีสัดส่วนวัยแรงงานสูงถึง 61% และมีการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างอาชีพ จากภาคเกษตรมาเป็นภาคอุตสาหกรรม/บริการ ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น


4) อัตราการเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนาม คาดการณ์ว่าจะสามารถเติบโตประมาณ 20% ในปีนี้และปีหน้า


5) โอกาสที่ตลาดหุ้นเวียดนามจะถูกปรับสถานะจาก Frontier Market เป็น Emerging Market ซึ่งจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก



เปรียบเทียบกองทุนหุ้นเวียดนามในตลาด

คำถามยอดฮิต เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คือ แล้วจะเลือกกองทุนรวมหุ้นเวียดนามอย่างไรดี หรือจะเปรียบเทียบกองทุนหุ้นเวียดนามอย่างไร ขอสรุปแนวทางการลงทุนของกองทุนรวมหุ้นเวียดนาม ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้


1.กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามโดยตรงเป็นหลัก

จะมีกองทุนที่อยู่ในกลุ่มนี้ อยู่ 2 กองทุนที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังเกิน 3 ปี (PRINCIPLE VNEQ-A, K-VIETNAM) โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุน (เก็บจริง) ประมาณ 2.18%-2.35% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี (ณ วันที่ 22 ส.ค. 65) ของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเวียดนามโดยตรง อยู่ในช่วง 41.19%-55.48%


2.กองทุนรวมที่ลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในเวียดนาม (Fund of Funds)

จะมีกองทุนที่อยู่ในกลุ่มนี้ 4 กองทุนที่มีผลการดำเนินงานเกิน 3 ปี (ASP-VIET, UVO, ONE VIETNAM KF-VIET-A) โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี (ณ วันที่ 22 ส.ค. 65) อยู่ระหว่าง 16.24%-33.15% ส่วนอีก 4 กองทุน เพิ่งจัดตั้งยังไม่ครบ 1 ปี (TMB-ES-VIETNAM, SCB VIET, MVIET, TVIETNAM) ทำให้ยังไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุน ประมาณ 0.99%-3.05%


3. กองทุนรวมลงทุนทั้งผ่านกองทุนและบางส่วนลงทุนในหุ้นเวียดนามโดยตรง

จะมีกองทุนที่อยู่ในกลุ่มนี้ 2 กองทุน ซึ่งยังเพิ่งจัดตั้งไม่ถึง 1 ปี (B-VIET, LHVN) ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบในมุมของผลตอบแทนย้อนหลังได้ โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ของกองทุน ประมาณ 1.49%-1.85%


ส่วนใหญ่กองทุนหุ้นเวียดนามที่เสนอขาย จะมีลักษณะการบริหารกองทุน เป็นแบบ Active Management เน้นสร้างผลตอบแทนให้ได้มากกว่าตลาด ซึ่งเป็นการลงทุนในหุ้นแบบกระจุกตัวในประเทศเวียดนาม มีนโยบายไม่จ่ายปันผล ส่วนนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ดังนั้น จะมีโอกาสกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ได้ ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการลดหย่อนภาษี กองทุนรวมหุ้นเวียดนามก็มีให้เลือกในรูปแบบ SSF และ RMF เช่นกัน (อย่าลืมศึกษาเงื่อนไขภาษีก่อนตัดสินใจลงทุน) อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนาม คือ การลงทุนแบบกระจุกตัว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

• บลจ.กสิกรไทย

• Finnomena



บทความโดย K WEALTH TRAINER
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!