ทางเลือกลงทุน หุ้นสโมสรฟุตบอลระดับโลกน่าซื้อแค่ไหน

ทางเลือกการลงทุนในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างสโมสรฟุตบอลอาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงเศรษฐกิจไม่แน่นอน เพราะมีผลออกมาว่าราคาหุ้นสโมสรฟุตบอลเป็นการเติบโตที่ไม่อิงกับเศรษฐกิจ

กดฟัง
หยุด
ทางเลือกลงทุน หุ้นสโมสรฟุตบอลระดับโลกน่าซื้อแค่ไหน

● หุ้นสโมสรฟุตบอล ในลีกดังอย่างพรีเมียร์ลีก บุนเดสลีกา กัลโช่ ถือเป็นหุ้นที่ราคามีความสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจโลกต่ำ หรืออาจถึงขั้นสวนทางกับเศรษฐกิจโลกและทางเลือกการลงทุนอื่น ทำให้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนผสมความชอบส่วนตัวได้


● ผลงานในสนาม คือ หนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มรายได้ให้สโมสรได้ จากรายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ค่าตั๋วเข้าชมในสนามเหย้า และการขายของที่ระลึกของนักเตะชื่อดัง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลงานในสนามสม่ำเสมอ ก็ต้องมีต้นทุนจากการซื้อนักเตะใหม่ โดยสโมสรในพรีเมียร์ลีก มีสถิติซื้อขายนักเตะสูงสุด ต้องมาลุ้นการทำผลงานในสนามว่าจะคุ้มค่ากับค่าตัวนักเตะใหม่ๆหรือไม่


● ทางเลือกในการลงทุนหุ้นสโมสรฟุตบอล ได้แก่ การซื้อหุ้นต่างประเทศผ่านบัญชี Offshore หรือ ผ่านกองทุนรวมต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นสโมสรฟุตบอลที่เราสนใจก็ได้



สำหรับนักลงทุนทั้งในประเทศและระดับโลกเราอาจไม่เห็นใครพูดถึงการลงทุนในธุรกิจการกีฬากันมากนัก อย่างมากล่าสุดการทวิตข้อความทีเล่นทีจริงของ Elon Mask เกี่ยวกับการขอซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อาจจุดกระแสให้แฟนฟุตบอลตั้งคำถามกับตัวเองได้ว่า เราสามารถนำความชื่นชอบด้านกีฬาของตัวเองมาเชื่อมโยงกับการลงทุนสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ บทความนี้จะเล่าให้ฟัง



ผ่าโครงสร้างรายได้-ค่าใช้จ่ายของสโมสรฟุตบอลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขอยกตัวอย่างจากรายได้ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในรอบบัญชี 1 ก.ค. 2563 – 30 มิ.ย. 2564 มีรายได้รวม 494.1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 20,500 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 28 ส.ค. 65) โดยแบ่งเป็นรายได้จาก 3 ส่วนใหญ่ คือ รายได้เชิงพาณิชย์ (รายได้จากสปอนเซอร์ และรายได้จากขายของที่ระลึก) รายได้จากลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด และรายได้จากค่าขายตั๋วตามความจุของสนามเหย้าของตนเอง โดยที่ผ่านมารายได้ที่ค่อนข้างจะสม่ำเสมอ จะมี 2 ส่วน คือ รายได้เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะรายได้จากสปอนเซอร์ที่เป็นสัญญาระยะยาว 3-5 ปี แล้วแต่จะตกลง และค่าขายตั๋วตามความจุของสนามเหย้าของตนเอง แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID หุ้นสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง แมนยูฯ ได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในสนามทำให้รายได้จากการขายตั๋วหดไปเกือบ 90% (เหลือเพียง 7.1 ล้านปอนด์ ในรอบบัญชี 1 ก.ค. 2563 –30 มิ.ย. 2564) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรายได้จากตั๋วเข้าชมฟุตบอลลีกชายของแมนยูฯเป็นหลัก เช่นเดียวกับสโมสรอื่นๆในพรีเมียร์ลีก นอกจากหุ้นของสโมสรแมนยูฯ ที่จดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค (NYSE) แล้วยังมี หุ้นของสโมสรยูเวนตุส จาก กัลโช่ ซีรีส์เอ อิตาลี, สโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุน จากบุนเดสลีกา ในเยอรมัน และสโมสรอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม จากดิวิชั่น 1 ในเนเธอร์แลนด์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน ซึ่งแนวโน้มรายได้จากการขายตั๋วในอดีตช่วงสถานการณ์ COVID ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด


รายได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด ขึ้น-ลงได้ตามผลงานในสนามของสโมสร และจำนวนนักเตะ หากมีการเข้ารอบลึกในหลายๆรายการแข่งขัน จะเพิ่มโอกาสได้รายได้มากขึ้น


ในส่วนของค่าใช้จ่ายของสโมสรฟุตบอล คงหนีไม่พ้นค่าจ้างและค่าซื้อตัวนักเตะฝีเท้าเยี่ยม เพื่อทำให้สร้างรายได้ให้สโมสรผ่านผลงานของทีม มีรายงานว่า สโมสรในพรีเมียร์ลีก มีเงินหมุนเวียนในการซื้อขายนักเตะในช่วงสิ้นเดือน ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 11,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 46,200 ล้าน บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 28 ส.ค. 65) ลดลง 11% และ 9% จากช่วงเดียวกันในปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับรายได้ค่าตั๋วที่ลดลงในสถานการณ์ COVID และปีล่าสุด (ข้อมูล ณ 30 ส.ค. 65) เงินหมุนเวียนในการซื้อขายนักเตะ (ยังไม่ปิดตลาดฯ) อยู่ที่ 15,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 63,000 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 28 ส.ค. 65) ซึ่งเป็นยอดเงินหมุนเวียนในการซื้อขายนักเตะ สูงสุด นับตั้งแต่ปี 2003 จะเห็นว่า เริ่มมีการลงทุนในการซื้อขายนักเตะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ สโมสรในพรีเมียร์ลีก ต้องมาดูว่า สโมสรที่มีการทุ่มเงินซื้อนักเตะจะสร้างผลงานในสนามให้มีรายได้กลับเข้าสโมสรได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป


การขึ้นลงของราคาหุ้นสโมสรฟุตบอล กับความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลก

หุ้น MANU หรือสโมสรแมนยู ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ NYSE มีราคาตลาดต่ำสุด-สูงสุดในรอบ 5 ปี (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) ระหว่าง 10.73-26.20 USD per share มูลค่าตลาด (Market Cap.) 2.13 Billion USD มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (ปีล่าสุด) 1.38% ราคาปิดล่าสุด (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) 13.25 USD per share ทำกำไรได้ 2 ใน 5 ปีหลังสุด


หุ้น AFC Ajax NV หรือสโมสรอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ Euronext Amsterdam มีราคาตลาดต่ำสุด-สูงสุดในรอบ 5 ปี (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) ระหว่าง 9.96-20.70 Euro per share มูลค่าตลาด (Market Cap.) 258.50 Million Euro ไม่ระบุอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (ปีล่าสุด) ราคาปิดล่าสุด (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) 14.10 Euro per share ทำกำไรได้ 4 ใน 5 ปีหลังสุด โดยปีล่าสุดขาดทุน 6.44% เทียบกับรายได้ทั้งหมด


หุ้น Juventus FC Spa หรือสโมสรยูเวนตุส ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอิตาลี มีราคาตลาดต่ำสุด-สูงสุดในรอบ 5 ปี (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) ระหว่าง 0.31-1.54 Euro per share มูลค่าตลาด (Market Cap.) 901.24 Million Euro ไม่ระบุอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (ปีล่าสุด) ราคาปิดล่าสุด (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) 0.36 Euro per share ทำกำไรได้ 1 ใน 5 ปีหลังสุด โดยปีล่าสุดขาดทุน 51.31% เทียบกับรายได้ทั้งหมด


หุ้น Borussia Dortmund หรือสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเยอรมัน มีราคาตลาดต่ำสุด-สูงสุดในรอบ 5 ปี (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) ระหว่าง 3.42-9.99 Euro per share มูลค่าตลาด (Market Cap.) 412.22 Million Euro ไม่ระบุอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (ปีล่าสุด) ราคาปิดล่าสุด (ณ วันที่ 30 ส.ค. 65) 3.73 Euro per share ทำกำไรได้ 3 ใน 5 ปีหลังสุด โดยปีล่าสุดขาดทุน 20.83% เทียบกับรายได้ทั้งหมด


ตารางแสดงราคาหุ้น MANU หรือสโมสรแมนยู ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ NYSE


ตารางแสดงราคาหุ้น AFC Ajax NV หรือสโมสรอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ Euronext Amsterdam

ตารางแสดงราคาหุ้น Juventus FC Spa หรือสโมสรยูเวนตุส ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอิตาลี


หุ้น Borussia Dortmund หรือสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเยอรมัน

สรุปแล้วหุ้นสโมสรฟุตบอล น่าสนใจ?

หุ้นสโมสรฟุตบอลเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครนค่อนข้างน้อย ถือเป็นอีกธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เน้นไปที่เรื่องของอารมณ์มากกว่าเรื่องของเหตุผลหรือการใช้งาน มักจะทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงตลาดขาขึ้น และได้รับผลกระทบน้อยในช่วงตลาดขาลง แต่จากงบกำไรขาดทุนในช่วง 2 ปีล่าสุด ที่ขาดทุนหลายสโมสร ส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤติ COVID ที่มีมาตรการรักษาระยะห่าง หรือ ควบคุมจำนวนคนเข้าดูในสนาม ทำให้กระทบกับรายได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างชัดเจน คือ ค่าจ้างนักเตะตามสัญญา และผลงานในสนาม หากผลงานในสนามไม่ดีด้วย จะกระทบต่องบกำไรขาดทุนในช่วง 2-3 ปีหลังอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในภาวะปกติ ความชอบของผู้ลงทุน ประกอบกับผลงานในสนามที่ดี มีนักเตะดังอยู่ในทีม จะยังช่วยพยุงกำไรของสโมสรได้ จึงเป็นหุ้นอีกกลุ่มที่น่าสนใจในการลงทุนระยะยาวและลงทุนด้วยความชอบส่วนตัวได้


ทางเลือกลงทุนกับหุ้นสโมสรที่ชอบ

หากสนใจลงทุนในหุ้นสโมสร ไม่ว่าจะด้วยความชอบส่วนตัว หรืออยากจะลงทุน มีทางเลือกในการลงทุนผ่าน 2 ช่องทาง


1.เปิดบัญชีหุ้น Offshore โดยจะส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นในตลาดต่างประเทศโดยตรง และชำระค่าหุ้นเป็นเงินสกุลต่างประเทศ


2.เปิดบัญชีกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่เน้นลงทุนในหุ้นสโมสรฟุตบอล โดยจะลงทุนเป็นเงินบาท และนำเงินไปลงทุนในกองทุนหุ้นที่ต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันจะมีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเกี่ยวกับการพักผ่อน หรือ บันเทิง จะมีการเลือกลงทุนในหุ้นสโมสรฟุตบอลอยู่บ้าง หรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเกี่ยวกับเกมส์ E-Sport ซึ่งจะมีบริษัทอย่าง SEA ในกองทุน K-ATECH เป็นต้น


การลงทุนกับความชอบส่วนตัว นอกจากจะมีความสุขแล้ว ยังจะช่วยให้มีเงินงอกเงยได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ควรหมั่นติดตามข่าวสารในเรื่องผลการแข่งขันของสโมสรประกอบการตัดสินใจด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้เงินงอกเงย และลดความเสี่ยงจากการขาดทุนลง


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

● บล.กสิกรไทย

● Website Google Finance

● รายการ Morning Wealth วันที่ 1 ก.ย. 65 โดย The Standard Wealth

Deloitte Sport Groups



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
Back to top