K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : ติดตามตลาดหุ้นสหรัฐฯและจีน หลังประกาศงบและตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ
02 สิงหาคม 2565
3 นาที

ประเด็นร้อน : ติดตามตลาดหุ้นสหรัฐฯและจีน หลังประกาศงบและตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ


​​​​“

1 ส.ค. 65 หลายตลาดหุ้นและหลายสินทรัพย์มีการเคลื่อนไหวทิศทางที่ต่างกัน ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (เทียบกับสิ้น มิ.ย.) เช่น


• ตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาดมีการปรับตัวขึ้น เช่น ดัชนี Nasdaq +12.15% S&P500 +8.80% Dow Jones +6.56% โดยราคากองทุนหลักของ K-USA (US Advantage Fund) ปรับตัวขึ้น +15.18% เทียบกับสิ้นเดือน มิ.ย.


• ตลาดหุ้นอินเดียมีการปรับตัวขึ้น เช่น ดัชนี Nifty 50 +9.88% โดยราคากองทุนหลักของ K-INDIA (Goldman Sachs India Equity Portfolio) ปรับตัวขึ้น +11.27%เทียบกับสิ้นเดือน มิ.ย.


• ตลาดหุ้นจีนมีการปรับตัวลง เช่น ดัชนี HSCE -10.31% Hang Seng -7.75% China A50 -8.30% โดยราคากองทุนหลักของ K-CHINA (JPMorgan Funds - China Fund) ปรับตัวลง -10.09%เทียบกับสิ้นเดือน มิ.ย.


• ราคาน้ำมันดิบโลกมีการปรับตัวลง โดยราคากองทุนหลักของ K-OIL (Invesco DB Oil Fund) ปรับตัวลง -4.72%เทียบกับสิ้นเดือน มิ.ย. และหากเทียบกับวันก่อนหน้า ก็ปรับตัวลงถึง -3.56% ภายในวันเดียว




โดยราคาของกองทุนหลักต่างประเทศ ณ 1 ส.ค. คาดว่าจะสะท้อนในราคากองทุนต่างประเทศของ K-Asset ณ 1 ส.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศคืนวันที่ 2 ส.ค.



I: กองทุน K-USA


หุ้นในกองทุนหลัก ปรับตัวขึ้น

หากพิจารณาหุ้น 10 อันดับแรก ที่กองทุนหลักของ K-USA ลงทุนมากที่สุด ณ 30 มิ.ย. 65 คิดเป็นสัดส่วนรวม 57.34% ของมูลค่ากองทุน พบว่าราคาปรับตัวขึ้น โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง




สาเหตุที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น

     o ได้รับแรงหนุนจากผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ออกมาสดใส เช่น บริษัท Apple และ Amazon.com โดยบริษัท Amazon.com ถือเป็นหนึ่งใน 10 บริษัท ที่กองทุนหลักของ K-USA (US Advantage) ถือครองอยู่ 


     o ตลาดหุ้นตอบรับเชิงบวกตามตลาดหุ้นส่วนใหญ่ หลัง FED ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 26-27 ก.ค. ที่ผ่านมา ยกเว้นตลาดหุ้นจีน ที่ได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของภาคการผลิตและภาคบริการของจีน


มุมมองการลงทุนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

     o หลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในรอบที่ผ่านมาของ FED (พุธที่ 27 ก.ค.) ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด นาย Powell ประธาน FED ได้ให้ความเห็นว่า FED ยังคงต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวต่อไป แต่ความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเริ่มชะลอตัวลง โดย FED จะประเมินผลกระทบการใช้นโยบายดังกล่าวต่อภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง โดยภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในหลายส่วนยังสามารถขยายตัวได้ดี จึงไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอย 


     o รายงาน GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาส 2 ของปีนี้ หดตัวลง -0.9% (เทียบรายปี) เป็นการหดตัวติดต่อกันสองไตรมาสหลังจากที่ไตรมาสแรกหดตัวลง -1.6% ทำให้สหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) โดยปัจจัยหลักมาจากการหดตัวของสินค้าคงคลัง รวมถึงการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ส่วนการบริโภคยังขยายตัวได้ 1%

 

     o สหรัฐฯ ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก The National Bureau of Economic Research (NBER) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ จะเป็นผู้ติดตามภาวะเศรษฐกิจ และจะเป็นผู้ประกาศว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการ โดยจะพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจแบบองค์รวมและไม่ได้ดูเฉพาะ GDP เพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องดังกล่าวเป็นเวลาอีกหลายเดือน อีกทั้งหัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics มองว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวเท่านั้น (ยังไม่ใช่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย) 


     o จากการที่ FED ส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงต่อไปที่จะชะลอลง ส่งผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และ Growth stocks ที่ถูกกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรง ในช่วงก่อนหน้า 


     o KAsset ยังคงมุมมองให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยปัจจุบันการประเมินมูลค่าของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปี ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการดำเนินนโยบายที่ตึงตัวของ FED เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูง จะยังจำกัดการปรับตัวขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ



II: กองทุน K-CHINA


หุ้นในกองทุนหลัก ปรับตัวลดลง

หากพิจารณาหุ้น 10 อันดับแรก ที่กองทุนหลักของ K-CHINA ลงทุนมากที่สุด ณ 30 มิ.ย. 65 คิดเป็นสัดส่วนรวม 42.20% ของมูลค่ากองทุน พบว่าส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลง โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง




สาเหตุที่ตลาดหุ้นจีน ปรับตัวลดลง

     o ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต เดือน ก.ค. ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 49.0 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

     ทำให้ความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูงอย่างน้ำมันเบนซิน ถ่านหิน และเหล็ก ซึ่ง Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Jones Lang Lasalle Inc. (บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก) มองว่าความต้องการสินค้าที่ลดลงจากทั่วโลกจะทำให้การฟื้นตัวของภาคการผลิตของจีนมีข้อจำกัด รวมถึงราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น จะส่งผลให้กำไรของผู้ผลิตลดลง 


     o จีนยังเผชิญกับความกังวลในตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนที่ผู้ซื้อบ้านเริ่มไม่ผ่อนบ้านต่อกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังอาจส่งผลต่อธุรกิจสถาบันการเงินด้วย 


     o นโยบาย Zero-COVID ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการล็อกดาวน์ไปแล้วบางส่วนเป็นระยะเวลาสั้นๆ (3 วัน) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 


     o หลายบริษัทของจีน อาจถูกถอดออกจากการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมาย HFCAA (Holding Foreign Companies Accountable Act) ได้ เช่น หุ้น Alibaba ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 บริษัทที่กองทุนหลักของ K-CHINA (JPMorgan Funds - China Fund) ถือครองอยู่ มีราคาที่ปรับตัวลงจากข่าวดังกล่าว 


     o อีกประเด็นที่นักลงทุนกังวลในช่วงนี้ คือการที่ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอาจเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงวันที่ 2 ส.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้ ในกำหนดการไม่ได้มีการระบุถึงการเยือนไต้หวันมาก่อน โดยหากมีการเยือนไต้หวันจริงจะเป็นการเพิ่มความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากด้านจีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตของจีน โดยจีนได้มีการประกาศว่าหากมีการเยือนจริง “จะมีผลตามมาอย่างร้ายแรง” ความกังวลดังกล่าวจึงส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในช่วงเช้าวันที่ 2 ส.ค. (เวลา 12.00)


มุมมองการลงทุนของตลาดหุ้นจีน​

นักลงทุนสถาบันรายใหญ่ระดับโลกหลายราย เช่น Fidelity International Ltd., abrdn plc., GAM Investment Management, FountainCap Research & Investment และ BNP Paribas Wealth Management เชื่อว่าหุ้นจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว หลังจากเดือน ก.ค. ปรับลดลงอย่างรุนแรง โดยคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง มีปัจจัยสนับสนุนจากกำไรบริษัทของตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงที่มีการเติบโต และนโยบายการเงินที่สวนทางกับประเทศอื่น 


      • คาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นจีนจะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดหุ้นทั่วโลก ที่ถูกกดดันจากความกังวลที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 


      • ตลาดหุ้นจีนได้รับข่าวเชิงลบส่วนใหญ่ในระยะสั้น ในขณะที่ผลลัพธ์เชิงบวกจากนโยบายภาครัฐยังไม่ได้สะท้อนออกมา และเชื่อว่าภาครัฐของจีนยังสามารถออกมาตรการทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มากกว่าฝั่งตะวันตก 


      • ในช่วงเวลาที่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้เกิดสภาวะการเงินตึงตัว ส่งผลเสียต่อการการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จีนกลับมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาการเติบโตเศรษฐกิจให้คงอยู่ บวกกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่น ที่แม้ไม่ช่วยในการต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ทำให้จีนกลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้จัดการกองทุนที่มองหาแหล่งลงทุนในสภาวะเช่นนี้ 


     • ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจีนแม้ยังเพิ่มขึ้น แต่ท่าทีของรัฐบาลกลับลดพื้นที่ล็อกดาวน์เพื่อเลี่ยงการสร้างความเสียหายเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งความพยายามในการกลับมารับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลดข้อกำหนดการกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ล้วนส่งผลให้การบริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 



     • หุ้นกลุ่มบริโภคภายในประเทศของจีนยังต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยหุ้นเหล่านี้จะเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นหลังจากผ่านปีนี้ไปแล้ว 


     • สำหรับข่าวการที่บริษัทของจีน อาจถูกถอดจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ถือว่าไม่ใช่ข่าวใหม่ และหากมีการเพิกถอนจริง จะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดคือปี 2567 หรืออีกประมาณ 2 ปี หากบริษัทนั้นๆ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของ HFCAA เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน อีกทั้งบริษัทจีนหลายบริษัทนอกจากจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แล้ว ยังมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นจีนด้วย เช่น หุ้น Alibaba ที่นอกจากจะมีการแสดงเจตนาว่ายังคงต้องการปฏิบัติตามกฏหมายดังกล่าวเพื่อให้ยังสามารถซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่อไปได้แล้ว ปัจจุบันบริษัทยังมีการจดทะเบียนซื้อขายในกระดานรองของฮ่องกง และคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนซื้อขายในกระดานหลักของฮ่องกงได้ภายในสิ้นปี ประเด็นดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัจจัยที่น่ากังวลนักสำหรับนักลงทุน



III: กองทุนอื่นๆ สาเหตุที่ราคามีการเปลี่ยนแปลง


     • สัญญาน้ำมันดิบ ล่าสุดปรับตัวลง จากความกังวลเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมัน หลังจากที่หลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐ ฯลฯ มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เดือน ก.ค. ที่ปรับตัวลง การเพิ่มกำลังการผลิตของลิเบียและเบเกอร์ ฮิวจ์ที่เป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ รวมถึงนักลงทุนกำลังจับตาผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในวันพุธนี้ เกี่ยวกับนโยบายการผลิตเดือน ก.ย. หลังจากที่มีมติเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. มาแล้ว 


     • ตลาดหุ้นอินเดีย ที่มีการปรับตัวขึ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปกติสำหรับสินทรัพย์การลงทุนทั่วไป โดยเมื่อ 1 ส.ค. ตลาดหุ้นอินเดียปรับตัวเพิ่มขึ้น จากตัวเลขภาคการผลิตของอินเดียที่ออกมาดี



คำแนะนำการลงทุน


     ● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่ (เช่น K-USA, K-USXNDQ) แนะนำให้ถือต่อและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้ ควรรอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อว่าผ่านจุดสูงสุดหรือยัง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED ในระยะถัดไป 


     ● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นจีน อยู่ (เช่น K-CHX, K-CHINA) แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มสามารถทยอยลงทุนเพิ่มได้ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังคงมีความผันผวนจากมาตรการล็อกดาวน์และสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ 


     ● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นอินเดีย อยู่ (เช่น K-INDIA K-INDX) แนะนำให้ถือต่อพร้อมกับประเมินสถานการณ์ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มยังไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม 


     ● ผู้ที่ถือกองทุนน้ำมัน (K-OIL) อยู่ หากมีกำไรแนะนำให้ทยอยขายคืนเพื่อทำกำไร ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มยังไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม 


     ● สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, THE STANDARD, FINNOMENA, กรุงเทพธุรกิจ, Infoquest


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

วิเคราะห์สถานการณ์ IMF หั่นเป้า GDP โลก
ประเด็นร้อน : เกาะติดผลประชุม FED ก.ค. กับสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย
สรุป "DR" เครื่องมือลงทุนต่างประเทศ แบบไม่ต้องใช้งบเยอะ