K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : เกาะติดผลประชุม FED ก.ค. กับสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย
28 กรกฎาคม 2565
3 นาที

ประเด็นร้อน : เกาะติดผลประชุม FED ก.ค. กับสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ย


​​​​​​“

FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ด้วยมติเอกฉันท์​



ตามคาดผลการประชุม FED​ ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อคืนที่ผ่านมา (27 ก.ค. 65) ด้วยมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 สู่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 61 และอาจมีการปรับเพิ่ม 0.75% อีกครั้งในเดือน ก.ย. เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อหลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด ณ มิ.ย. 65 อยู่ที่ 9.1%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%



ตลาดตอบรับเชิงบวก หลังรู้ผลประชุม FED

ณ 27 ก.ค. 65 ดัชนีตลาดหุ้นหลักๆ ของสหรัฐฯ มีการปรับตัวสูงขึ้นหลังรู้ผลการประชุม เช่น Dow Jones +1.37% S&P 500 +2.62% Nasdaq +4.06% เทียบกับวันก่อนหน้า (ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน) ส่วนค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.7% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล


ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน ถือเป็นการดำเนินการที่เข้มงวดที่สุดของ FED นับตั้งแต่ที่ FED ใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็นเครื่องมือสำคัญด้านนโยบายการเงินในช่วงทศวรรษ 1990


สำหรับการแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวล ประธาน FED หลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการส่งสัญญาณว่า FED อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุม ครั้งต่อไปช่วง 20-21 ก.ย. โดยกรอบดอกเบี้ย 2.25-2.50% 


FED มองว่าเป็นกรอบที่เป็นกลาง ไม่ได้อยู่ในลักษณะผ่อนคลายหรือคุมเข้ม โดยคาดการณ์ว่า ณ สิ้นปีนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะอยู่ที่ระดับ 3.4% และยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้เผยแพร่ในเดือน พ.ค. 


โดยนายพาวเวล ได้ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในขณะนี้ เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจรวมถึงตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง



มุมมองการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปี 2566 แต่มองว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ครั้งนี้ มาจากความต้องการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว จึงมองว่าอาจไม่รุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2552 และคาดว่าเงินเฟ้อจะอ่อนแรงลงตามความต้องการบริโภคที่ชะลอลง ซึ่งจะส่งผลให้ FED อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต


โดยรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุดเดือน ก.ค. 65 ได้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และ 2566 มาอยู่ที่ 3.2% และ 3.9% ตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.3% และ 1.0% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าภาพรวมของโลก ในขณะที่จีนแม้ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.3% และ 4.6% ตามลำดับ แต่ยังสูงกว่าภาพรวมของโลก


สำหรับหุ้นไทย (SET Index) เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาว ตลาดหุ้นไทยจะมีการเคลื่อนไหวอีกครั้งวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งก่อนหน้านี้ หลักทรัพย์กสิกรไทย (KSecurities) ได้ประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุด และราคาหุ้นไทยได้รับรู้ข่าวการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ไปแล้ว 


เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด ระดับดัชนีหุ้นไทยที่น่าจะมีคนเข้าซื้อมาก (แนวรับ) จะอยู่ที่ 1,525 จุด ซึ่ง ณ 27 ก.ค. 65 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) อยู่ที่ 1,576.41 จุด



คำแนะนำการลงทุน


     • กองทุนหุ้นสหรัฐฯ (เช่น K-USA) 

ผู้ที่ถืออยู่และต้องการลงทุนเพิ่ม ยังไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่มและรอประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะรับรู้ความกังวลด้านเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยไประดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังคงมีความผันผวนจากความกังวลด้านภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่


     • ผู้ที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ และลงทุนได้ระยะยาว 


          o ผู้รับความเสี่ยงได้ปานกลาง >>

แนะนำกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายทั่วโลก ผ่านกองทุนรวมผสม K-GINCOME ที่สามารถทยอยลงทุนและถือลงทุนได้แทบทุกสถานการณ์ หรือกองทุน K-GINCOME-SSF ที่ได้รับผลประโยชน์ทางภาษี 


          o ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง >>

แนะนำทยอยลงทุนในกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX) ที่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตขึ้นนำสหรัฐฯ ในอนาคต หรือกองทุนหุ้นเวียดนาม (เช่น K-VIETNAM, KVIETNAMRMF) ที่มีโอกาสเติบโตสูง เมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน 

​   

          o​ ผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ >>

หรือยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุน 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก : KAsset, KSecurities, KResearch, IMF, InfoQuest 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

แนวทางการลงทุน หลังยุโรปขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ
ประเด็นร้อน : กองทุน K-USA ขยับลง สวนทางตลาด หลังแนวโน้มกำลังซื้อลดลง
กองทุนตราสารหนี้ร่วง แต่ทำไมควรทยอยซื้อ และถือต่อ