“
• ออมทองหรือลงทุนในทองคำ เป็นทางเลือกที่คนให้ความสนใจ โดยสามารถทำได้ 4 รูปแบบคือ ซื้อทองคำตรงๆ ออมผ่านช่องทางออนไลน์(แอพพลิเคชั่น) ลงทุนผ่านกองทุนทองคำ และ ลงทุนผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(โกลด์ฟิวเจอร์ส)
• การเลือกรูปแบบการออมหรือลงทุนทองที่เหมาะสม ควรดูในเรื่องของ อาชีพ รายได้ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ฯลฯ และควรอัพเดทข่าวสารเกี่ยวกับทองคำอยู่เป็นระยะ เพราะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนตลอดเวลา
“
จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ของแพง โรคระบาด ฯลฯ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นมากขึ้นมาอยู่ที่ 1995 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ (ราคา ณ วันที่ 8/3/65) โดยนักวิเคราะห์แนะนำว่าควรมีสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ทองคำ ติดพอร์ตไว้อย่างน้อย 5%-10% เพื่อกระจายความเสี่ยง สำหรับคนที่สนใจลงทุนในทองคำมีทางเลือกอะไรบ้าง ไปดูกัน
รูปแบบการออมหรือลงทุนในทองคำ
ปัจจุบันมีทางเลือกมากมายตอบโจทย์คนที่อยากออมทองหรือลงทุนในทองคำ ทั้งในรูปแบบใช้เงินก้อน หรือ แบบทยอยเก็บสะสมเงิน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นออมทอง ลองมาดู 4 วิธี ดังต่อไปนี้
1) ซื้อทองคำตรงๆ
คือการนำเงินก้อนไปซื้อทองคำมาออมจากร้านโดยตรงในรูปแบบของ ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ หรือการ์ดทองคำแท่งแบบแผ่น ที่สามารถเก็บออมก็ได้หรือให้เป็นของขวัญก็ได้ วิธีนี้เป็นการออมเงินโดยใช้เงินก้อนใหญ่ ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงด้านราคาได้ เพราะทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ราคาค่อนข้างสูง และราคาที่ซื้อจะเป็นราคาที่ตายตัว ณ ช่วงเวลานั้น ข้อดีคือได้ทองคำที่เป็นทรัพย์สินจับต้องได้ แต่ก็มีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่สะสมทองคำเป็นจำนวนมากคือ ต้องหาที่จัดเก็บให้ดีปลอดภัย อาจฝากไว้กับร้านทองที่ไว้ใจ หรือฝากกับตู้เซฟของธนาคาร (เงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่ธนาคารนั้นๆ กำหนด)
2) ออมทองผ่านช่องทางออนไลน์
ปัจจุบันเทรนด์การลงทุนที่ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ เป็นการลงทุนผ่านช่องทางดิจิทัลที่ทั้งสะดวกและรวดเร็ว โดยเริ่มต้นสะสมที่เงินหลักร้อย ไปจนถึงหลักพัน เป็นการออมเงินไปเรื่อยๆ จนครบน้ำหนักทองคำตั้งแต่หนึ่งสลึงขึ้นไป โดยสามารถเลือกรับเป็นทองคำแท่งจริง หรือถอนเป็นเงินสดกรณีมีกำไรจากราคาทองในแต่ละช่วงเวลาได้ ข้อดี คือ เป็นการทยอยซื้อตามรายได้และทุนที่มี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงเรื่องราคาทองคำ จากการทยอยซื้อแบบถัวเฉลี่ยราคาได้ในแต่ละครั้ง ตัวอย่างช่องทางออนไลน์ตัวอย่างผู้ให้บริการดังนี้
● ออมผ่าน Line Official ของผู้ให้บริการ เช่น ฮั่วเซ่งเฮง (Line @hshsocial)
● ออมผ่าน Application เช่น แอพ Gold Now ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างฮั่วเซ่งเฮง และธนาคารกสิกรไทย ให้ลูกค้าผู้ลงทุนทองคำหรือออมทองสามารถทำธุรกรรมและชำระเงินได้แบบเรียลไทม์
3) ลงทุนผ่านกองทุนทองคำ
การลงทุนผ่านกองทุนทองคำเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก มีผู้จัดการกองทุนดูแลให้โดยไม่ต้องกังวลราคาขึ้นลงของทองคำ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนระหว่างการลงทุนไม่ว่าจะในรูปของเงินปันผล หรือในรูปของกำไรจากส่วนต่างในมูลค่าของหน่วยลงทุน เช่น กองทุนรวม K-GOLD ที่ลงทุนในกองทุนหลัก SPDR Gold Trust (USD) ซึ่งเน้นลงทุนในทองคำแท่งเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำแท่งในตลาดโลก มีความเสี่ยงระดับ 8 ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี อยู่ที่ 4.29% 11.17% และ 7.02% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565)
4) ลงทุนผ่านโกลด์ฟิวเจอร์ส
โกลด์ฟิวเจอร์สหรือสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่นักลงทุนสามารถลงทุน หรือ ทำกำไรได้ตามสภาวะราคาทองคำทั้งทองขาขึ้นและทองขาลง ซึ่งจะไม่มีการส่งมอบทองคำจริง ซื้อขายได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยผู้ลงทุนเพียงแค่วางเงินประกันแค่ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาซื้อขาย เมื่อสิ้นวันระบบจะคำนวณกำไรขาดทุนออกมาแล้วปรับยอดเงินเข้าบัญชี ซึ่งต่างกับหุ้นที่ต้องใช้เงินเต็มจำนวนในการซื้อขาย ข้อควรระวังคือในกรณีที่ราคาผันผวนจนทำให้ขาดทุนต่ำกว่าราคาที่วางเงินประกันไว้ จะมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากนักลงทุนได้ ปัจจุบันทางหลักทรัพย์กสิกรไทยเปิดให้มีการซื้อขาย GOLD TFEX 3 รูปแบบ ได้แก่ Gold Futures Gold-D Futures และ Gold Online Futures
การลงทุนในทองคำมักจะถูกมองว่าเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดมีความกังวล สภาวะเศรษฐกิจ ฯลฯ โดยสมาคมค้าทองคำ คาดการณ์ราคาทองคำในเดือนมีนาคม 2565 ให้กรอบเฉลี่ยอยู่ที่ 1,870 – 2,033 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และนักวิเคราะห์จากหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดการณ์ราคาทองคำมีโอกาสทะลุ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยมองเป็นเทรนด์ขาขึ้น อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรติดตามปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เช่น ภาวะสงคราม เรื่องค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงในปีนี้ และ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”
หมายเหตุ :
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : Ksecurities, KAsset, Prachachat