21/6/2564

ผ่าทางตัน งัดกลยุทธ์ Diversify แก้วิกฤต

ในเมื่อธุรกิจเดิมไม่สามารถทำเงินได้เหมือนเคย หากเป็นคุณจะทำอย่างไร? ไปต่อ หรือ พอแค่นี้

แต่สำหรับ เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) หัวเรือใหญ่ผู้ที่นำพาธุรกิจอีเวนต์ในกลุ่ม Index Creative Village ผ่านมรสุมลูกแล้วลูกเล่ามาตลอด 30 ปี จนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ในเมืองไทย และอันดับ 7 ของโลก ไม่เคยคิดที่จะหยุด แต่เลือกใช้วิธีเปลี่ยนเส้นทางเดิน เพื่อคว้าโอกาสใหม่

เจ้าพ่อธุรกิจอีเวนต์รายนี้ใช้กลยุทธ์ไหนทำให้ธุรกิจรอดจาก COVID-19 เขาได้มาเผยให้รู้ในงานสัมมนา Live Concern : เพลย์ลิสต์ พลิกเกมธุรกิจ ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น ในหัวข้อ “ลมเปลี่ยนทิศ : หยิบโอกาสจากวิกฤต เปลี่ยนทิศให้ธุรกิจเดินต่อ”

กระจายความเสี่ยง กลยุทธ์สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจ

Index Creative Village พยายามสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจของตัวเอง เพราะตระหนักดีว่า ธุรกิจอีเวนต์มีตัวแปรมากระทบบ่อย ไม่ว่า เศรษฐกิจ การเมือง น้ำท่วม ฯลฯ ดังนั้น วิธีสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด คือ การกระจายความเสี่ยง อย่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงในประเทศ ซึ่งก็ได้ผลดีมาโดยตลอด แต่พอมาเจอ COVID-19 ทำให้รู้ว่า ภูมิคุ้มกันที่เคยคิดว่าเพียงพอ ไม่ช่วยอะไร เพราะในต่างประเทศก็กลายเป็นศูนย์เช่นกัน ทำให้รายได้ปี 2563 หายไปเกือบ 70% จาก 1,400 ล้านบาท เหลือแค่ 400 กว่าล้านบาทเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ Index Creative Village จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ขึ้นมา ด้วยการเพิ่มเส้นทางเดินให้ธุรกิจ ซึ่งมีทั้งที่เป็นธุรกิจใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมเลย และต่อยอดจากธุรกิจเก่า แต่มีการปรับใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

  • ครีเอตธุรกิจใหม่

ธุรกิจใหม่ที่คิดและทำขึ้นมา เกิดจากการมองเห็นปัญหา (Pain Point) และนำมาสร้างเป็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น Kill & Klean แฟรนไชส์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เป็นธุรกิจใหม่ตัวแรกที่เกิดช่วง COVID-19 ระลอกหนึ่ง เพราะเห็นว่า คนกำลังวิตกกังวล และต้องการความปลอดภัยจากเชื้อโรค ธุรกิจบริการฆ่าเชื้อจึงเป็นสิ่งที่คนต้องการ และพอเกิดการล็อกดาวน์ ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ จึงเป็นที่มาของการทำรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งปัจจุบันมี 27 แฟรนไชส์ ใน 6 ประเทศแล้ว

หรือ ANYA MEDITEC ก็เกิดจากการเห็นปัญหาของโรงแรมที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก ขณะที่โรงพยาบาลก็มีคนไข้ต่างชาติน้อยลง กลายมาเป็นโมเดลธุรกิจตัวกลางเชื่อมระหว่างโรงพยาบาลและโรงแรม เพื่อนำเสนอบริการด้านสุขภาพที่ไม่จำเป็นต้องทำในโรงพยาบาล แต่เอามาทำที่โรงแรมแทน เช่น บริการทำ Sleep Test เพื่อวิเคราะห์ผลการนอนหลับอย่างมีคุณภาพแบบเจาะลึก หรือในอนาคตเตรียมที่จะเพิ่มบริการด้าน Anti-Aging เป็นต้น

  • ต่อยอดธุรกิจเก่า

Village of illumination เทศกาลประดับไฟ, House of illumination นิทรรศการศิลปะดิจิทัล รวมไปถึงการจัด Hybrid Concert และคืนปล่อยของ ที่เป็นการไลฟ์สดประมูลขายสินค้าต่างๆ เหล่านี้คือโปรเจกต์ใหม่ที่เกิดช่วง COVID-19 เช่นกัน โดยไอเดียนั้นถูกต่อยอดมาจากความเชี่ยวชาญเดิมของ Index Creative Village ที่อยากใช้ของใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ก็มีแต่เสื่อมคุณภาพลง ขณะเดียวกันทีมงานเองก็มีพร้อม เรียกว่าเป็นการพยายามใช้และทำสิ่งที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สร้างทีมให้พร้อมเดินเส้นทางใหม่

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ หรือการต่อยอดจากธุรกิจเก่า ทั้งหมดล้วนถูกดำเนินการด้วยพนักงานเดิมของบริษัท ที่มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ หากเรื่องไหนไม่รู้ก็จะไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เดินหน้าไปต่อได้ เกรียงไกรบอกว่า การจะทำให้คนทั้งองค์กรเป็นแบบนี้ได้ “วัฒนธรรมองค์กร” คือสิ่งสำคัญ ต้องการพัฒนาธุรกิจไปทิศทางไหน ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างสโลแกน Never Stop Creating ซึ่งบ่งบอกความเป็นตัวตนของ Index Creative Village ที่ไม่เคยหยุดคิดสร้างสรรค์ ทำให้ตั้งแต่คัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ก็ต้องมองหาคนที่มีความคิดแบบเดียวกัน เช่น มีความกระตือรือร้น มีความคิดสร้างสรรค์ และที่นี่ยังเป็นองค์กรที่เปิดรับไอเดียของทุกคน เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่ดียิ่งขึ้นไป

ทิ้งท้ายคำแนะนำ SME รอดวิกฤต

เกรียงไกรบอกอีกว่า การ Disrupt เกิดขึ้นได้ทุกวัน ฉะนั้นการทำตัวเองให้พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน หรือมองหาธุรกิจใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา คือ สิ่งที่จำเป็น เพราะการพัฒนาและไม่หยุดนิ่ง บางครั้งไม่ใช่แค่การเพิ่มโอกาส แต่ยังเป็นการทำเพื่อปกป้องธุรกิจของเราในอนาคตอีกด้วย