14/7/2560

10 ข้อง่ายๆ การค้าฉลุยกับเมียนมา กัมพูชา

       ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคเเห่งการเติบโตเเบบก้าวกระโดดของประเทศเมียนมาและกัมพูชา เพราะมีเเนวโน้มเศรษฐกิจที่โตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับพรมเเดนติดกับประเทศไทยจึงเหมาะมากที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุน แต่การเข้าไปลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้จึงขอนำบัญญัติ 10 ประการที่ช่วยให้ทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งมาจากงานสัมมนา “เจาะตลาดเมียนมา กัมพูชา โอกาสเปิดเพิ่มยอดขาย” งานสัมมนาดีๆ ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้นเพื่อให้ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ SME  ที่สนใจลงทุนทำธุรกิจในประเทศเมียนมาและกัมพูชา

​1. วางแผนธุรกิจให้ดี แผนธุรกิจที่ดีต้องเกิดจาการศึกษาตลาดให้ดี และต้องครอบคลุมถึงความต้องการของลูกค้า เพราะหากรู้ความต้องการ จะช่วยให้วางแผนธุรกิจได้ถูกต้อง สำหรับใครที่คิดอยากทำธุรกิจในกัมพูชา ต้องรู้ว่าคนกัมพูชาชอบอะไรไม่ชอบอะไร เช่น ไม่ชอบสีขาว เพราะสีขาวคือสีแห่งความตาย ดังนั้น หาก SME จะผลิตสินค้า แล้วอยากขายได้ในกัมพูชาต้องไม่ใช่สีขาว หรือปัจจุบันบ้านเรือนของทั้งกัมพูชาและเมียนมาเริ่มปรับปรุงเพื่อรองรับการติดแอร์ ก็เป็นความต้องการที่สร้างโอกาสให้กับหลายธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้างรายเล็กที่จะรับการปรับปรุงบ้าน ธุรกิจติดตั้งแอร์ ธุรกิจล้างแอร์ เป็นต้น

2. พันธมิตรธุรกิจเป็นสิ่งจำเป็น  เพราะกฎหมายหรือกฏเกณฑ์ของทั้ง 2 ประเทศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การมีพันธมิตรธุรกิจในท้องถิ่นที่ดี จะช่วยให้เราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และช่วยให้รู้เรื่องกฎระเบียบได้อย่างชัดเจนขึ้น

3. ศึกษาระบบขนส่งให้ดี เส้นทางคมนาคมใน 2 ประเทศนี้เริ่มดีขึ้นมาก มีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น SME ที่จะไปทำธุรกิจต้องศึกษาเส้นทางการขนส่งสินค้าให้ดี เพราะจะช่วยให้ไม่เกิดปัญหาเวลาขนส่งสินค้าข้ามประเทศ

4. สายป่านการเงินต้องยาว เงินสดสำรองและเงินทุนหมุนเวียนต้องพร้อม SME หลายรายล้มเพราะขาดสภาพคล่อง คนที่ทำ​ธุรกิจในเมียนมา ต้องเตรียมเงินสดสำรองไว้ 6-9 เดือน ถ้าสายป่านไม่ยาว ทำธุรกิจยาก

5. คำนึงถึงระบบชำระเงินระหว่างประเทศ ศึกษาธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารแต่ละประเทศให้ดี เพราะบางประเทศมีระเบียบที่ไม่เหมือนไทย เช่น ในกัมพูชาหากต้องการนำเงินสกุลต่างประเทศออกจากประเทศ จะไม่สามารถทำได้ทันที เพราะจะสามารถนำเงินออกได้เฉพาะวันที่กัมพูชามีเงินสกุลต่างประเทศไหลเข้ามาพอเพียงกับยอดเงินที่จะนำออกเท่านั้น

6. ดูสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การรู้ว่าสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศที่จะเข้าไปลงทุนเป็นอย่างไร จะช่วยให้วางแผนธุรกิจได้ง่ายขึ้น เช่น 2 ใน 3 ของประชากรเมียนมา ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  หรือในกัมพูชาแม้จะมีพื้นที่เพาะปลูกมาก แต่ใต้ดินส่วนใหญ่มีระเบิด การศึกษาสภาพแวดล้อมจะช่วยให้เวลาลงพื้นที่จริงจะได้มีการเตรียมความพร้อมได้อย่างเหมาะสม

7. ศึกษากฎระเบียบให้ละเอียด ยิ่งในเมียนมา มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายตลอดเวลา SME ต้องพยายามหาความรู้และรู้ว่ากฏหมายไหนมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง

8. อย่าหวังพึ่งแรงงานเพื่อนบ้าน SME ที่จะเข้าไปทำธุรกิจ อย่าคิดว่าทั้ง 2 ประเทศนี้มีแรงงานจำนวนมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่มาทำงานที่เมืองไทยเกือบหมด ดังนั้นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องแรงงานด้วย

9. CSR สำคัญและควรทำ การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงชุมชน เช่น เป็นเจ้าภาพงานต่างๆ  สนับสนุนเงินเพื่อช่วยเหลือชุมชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ใจคนในพื้นที่

10. พร้อมรับปัจจัยที่เหนือการควบคุม  ทั้ง 2 ประเทศนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีการเมืองการปกครองที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวเมียนมาปัจจุบันเริ่มชะลอตัว นักท่องเที่ยวลดลง เพราะนโยบายการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่จุดเดียวของอองซาน ซูจี จึงทำให้การบริหารเป็นไปอย่างล่าช้า

       ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนในเมียนมาและกัมพูชา อย่าลืมว่าควรเดินทางไปยังประเทศนั้นจริงเพื่อสำรวจตลาดและความต้องการของผู้บริโภค และนำมาวางแผนธุรกิจให้เหมาะสม ที่สำคัญต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่เคยมองว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นประเทศที่มีความล้าหลัง ให้คิดว่าตลาดเพื่อนบ้านคือโอกาสที่จะช่วยให้เราขายสินค้าและขยายตลาดได้ไกลขึ้น