21/6/2564

ปิดจุดเสี่ยง! กับดักทำหน้าร้านเจ๊ง

หนึ่งในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีหน้าร้าน ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะด้วยผู้บริโภคกังวลด้านความปลอดภัย จึงหลีกเลี่ยงการออกไปซื้อสินค้าที่หน้าร้าน แต่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาซื้อออนไลน์แทน ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจที่มีหน้าร้านจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหนัก มาดูกันว่ายุค COVID-19 เช่นนี้ มีจุดเสี่ยงไหนบ้าง ที่เป็นเสมือนกับดักคอยฉุดให้หน้าร้านขายของไม่ได้ ลูกค้าไม่เข้า

จุดเสี่ยง 1 : จ่ายปลอดภัยหรือไม่?

การซื้อจ่ายด้วย “เงินสด” ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วไป แต่กำลังกลายเป็นกับดักที่ฉุดธุรกิจให้ร่วง เนื่องจาก COVID-19 ทำให้คนหันมาชำระเงินแบบไร้เงินสดกันมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะสูงกว่า 4.4 พันล้านคนภายในปี พ.ศ.2568 เพิ่มขึ้นจาก 2.6 พันล้านคนในปัจจุบัน และกลายเป็นพฤติกรรม New Normal ไปในที่สุด แม้วิกฤตจะคลี่คลายลงแล้วก็ตาม สอดคล้องกับข้อมูลจากวีซ่าที่บอกว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทย (45%) มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายด้วยเงินสด แม้วิกฤต COVID-19 จะสิ้นสุดลง เพราะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย

เมื่อแนวโน้มเป็นเช่นนี้ ร้านค้าที่จะรับเฉพาะเงินสด จึงกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้น วิธีปิดจุดเสี่ยงแรกสำหรับหน้าร้าน คือ การปรับระบบไปสู่ Cashless Payment ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต บัตรเดบิต การแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรหรือสมาร์ตโฟน รวมถึงระบบ e-Payment e-Wallet แอปพลิเคชันต่างๆ ตลอดจนการสแกน QR Code ชำระเงิน เหล่านี้คือช่องทางที่ช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกจ่ายปลอดภัย เพราะลดการสัมผัสเงินสดลง อีกทั้งความสะดวกสบาย ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายและจ่ายเร็วขึ้นด้วย

แต่ก่อนที่ผู้ประกอบการจะลงทุนนำระบบ Cashless Payment มาใช้ปิดจุดเสี่ยงและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า

  • การลงทุนใช้เครื่องมือหรือช่องทางเหล่านี้ อาจมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมใช้บริการ ค่าดำเนินการ ค่าอุปกรณ์ แต่เมื่อเทียบกับโอกาสที่จะช่วยเพิ่มยอดขายได้ เชื่อว่าจะช่วยสร้างโอกาสที่ดีมากขึ้น ในการดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการจากหน้าร้าน
  • เลือก Cashless Payment ให้เหมาะกับจำนวนสาขาหน้าร้าน กรณีเป็นร้านขนาดย่อมหนึ่งสาขา อาจใช้เป็น QR Code เป็นช่องทางในการรับชำระเงิน เพราะต้นทุนไม่สูง ส่วนร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา หรือมีหลายสาขา อาจใช้การรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิต หรือช่องทาง Cashless Payment อื่นๆ เข้าช่วยได้
  • เลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Cashless Payment จำนวนมาก ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรพิจารณาและเปรียบเทียบ ตั้งแต่เรื่องราคาของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ ไม่ว่าจะซื้อขาดหรือการเช่า, ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการ, บริการหลังการขาย รวมถึงรายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ เป็นต้น

จุดเสี่ยง 2 : ชอปสะดวกหรือไม่?

ถ้าพูดในแง่ของการซื้อง่าย สะดวก รวดเร็ว ธุรกิจที่พึ่งพาการขายผ่านหน้าร้านเป็นหลัก อาจเสียเปรียบให้กับธุรกิจออนไลน์ ยิ่งคนกลัว COVID-19 ไม่กล้าออกนอกบ้าน โอกาสที่หน้าร้านจะขายได้ก็มีน้อยลง นี่จึงเป็นอีกจุดเสี่ยงที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ชอปปิงที่สะดวกและตรงใจมากที่สุด

  • O2O (Offline to Online) เชื่อมสองช่องทางอย่างลงตัว ถึงจะเป็นร้านออฟไลน์ แต่ก็ต้องบุกออนไลน์ไปด้วย โมเดล O2O จึงเป็นทางออกที่ดีในเวลานี้ ผู้ประกอบการต้องเชื่อมการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน เช่น อาจทำ QR Code หรือรหัสส่วนลดติดไว้ที่หน้าร้านหรือใบปลิว เพื่อให้ลูกค้าสแกนใช้บริการผ่านทางออนไลน์ หรือนำเทคโนโลยี AR/VR มาช่วยสร้างประสบการณ์ชอปปิงออนไลน์ให้เหมือนกับการไปซื้อที่หน้าร้าน
  • ปรับรูปแบบหน้าร้านให้เป็นมากกว่าพื้นที่ขายสินค้า เช่น จัดเป็นโชว์รูมให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้ารุ่นพิเศษ หรือจัดให้มี Workshop เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับร้านค้าออฟไลน์ที่ร้านออนไลน์ไม่มี
  • โปรดี บริการเยี่ยม ได้ทดลองสินค้า มีความปลอดภัย นี่คือจุดแข็งที่ร้านออฟไลน์ยุคนี้ต้องมีให้ครบ โปรโมชันที่จูงใจยังดึงดูดลูกค้าได้เสมอ และเมื่อรวมเข้ากับบริการที่ดี การให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ลูกค้าได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าจริง โดยที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัด ย่อมทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นที่จะเลือกใช้บริการจากร้านค้า

รู้จุดเสี่ยงแบบนี้แล้ว ถ้ากำจัดทิ้งให้ไว โอกาสที่ร้านค้าคุณจะไปรอดและเติบโตได้ย่อมมีอย่างแน่นอน