19/5/2560

ส่องทางรอด! ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปไทย

     ​ความต้องการอาหารแปรรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานมีมากขึ้น เพราะช่วยอำนวยความสะดวกและรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบันที่มีเวลาจำกัดในการประกอบอาหาร ทำให้อาหารทะเลแปรรูปกลายเป็นหนึ่งในอาหารแปรรูปที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภค และยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมาก



     ที่ผ่านมาการผลิตและการส่งออกทูน่ากระป๋องและกุ้งลดลง โดยได้รับผลกระทบจากความไม่เพียงพอของวัตถุดิบปลาทูน่า การประสบปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง รวมถึงการถูกตัดสิทธิ GSP จากยุโรป การได้รับใบเหลือง IUU fishing ของสหภาพยุโรปและการถูกจัดอับดับการค้ามนุษย์ในลำดับ Tier 2 Watch List ของอเมริกา ปัจจุบันปัญหาด้านการผลิตเริ่มคลี่คลาย ส่วนปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ของไทย รัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร ซึ่งคาดว่าไทยมีแนวโน้มจะหลุดจากใบเหลืองและอาจได้เลื่อนอันดับขึ้นเป็น Tier 2



     ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมให้อาหารทะเลแปรรูปของไทยกลับมาได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการมากขึ้น และจะทำให้การส่งออกอาหารทะเลแปรรูปของไทยขยายตัวตามไปด้วย



     กระแสความต้องการอาหารแปรรูป ผนวกกับศักยภาพการผลิตและเทคโนโลยีการแปรรูปอาหารทะเลของผู้ประกอบการ และความสามารถในการแก้ไขโรคระบาดในกุ้ง ตลอดจนการสนับสนุนจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลจะเป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้



     การขาดแคลนแรงงานไทยซึ่งนำไปสู่การลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายยังเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญและอาจพิจารณานำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในบางกระบวนการผลิต นอกจากนี้ ความต้องการบริโภคอาหารของผู้บริโภคย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลแปรรูปโดยเฉพาะ SME ควรทำความเข้าใจลักษณะความต้องการอาหารทะเลแปรรูปของผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคและแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้

ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทวิเคราะห์ฉบับเต็ม…


ดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม