Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ปรับระดับมาอยู่ที่ระดับ 3.00 – 3.25% ซึ่งขึ้นจาก 0.00 – 0.25% เมื่อมกราคมปีนี้ อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (1) แข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 20% ตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา


(1) ค่าเงินของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศที่เป็น "คู่ค้าหลัก" ของสหรัฐฯ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น

สำหรับในระยะข้างหน้า แม้อัตราเงินเฟ้อดูจะมีทิศทางที่ชะลอตัวลงอยู่บ้าง แต่จากการคาดการณ์แล้วคงไม่ปรับตัวลดลงเร็ว จึงทำให้เป็นปัจจัยหนุนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 และ คุมเข้มต่อไปถึงช่วงต้นปี 2566 เมื่อประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ เช่น

    • ภาวะถดถอยทางเทคนิค (GDP ของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2565 หดตัวติดต่อกัน)
    • ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเมื่อเกิดภาวะถดถอย

ด้วยเหตุนี้ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 



ยุโรปสะเทือนหนัก เงินเฟ้อยืดเยื้อ เงินยูโรอ่อนค่าต่อเนื่อง

ความไม่สงบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และ ยูเครนยังคงมีความตึงเครียดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทางรัสเซียได้มีการระงับการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 ซึ่งส่งกดดันเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในยูโรโซนมากมาย เช่น

    • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนกันยายน 2565 สูงสุดเป็นประวัติการณ์
    • เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคจากอัตราเงินเฟ้อสูง
    • เงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จากความอ่อนแอของเศรษฐกิจ และ การแข็งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

การอ่อนค่าลงของเงินยูโร ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ที่หนึ่งยูโรมีค่าน้อยกว่าหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเป็นอย่างมาก จึงส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (EBC) เร่งคุมเข้มนโยบายการเงินอย่างการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีระบุว่าจะกดเงินเฟ้อให้อยู่ระดับเป้าหมายที่ 2% (*) บ่งชี้ได้ว่า EBC จะยังมีแนวโน้มคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
* เงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 10%



เงินปอนด์ผันผวน สั่นคลอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้เริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่ปลายปี 2564 แต่สำหรับสหราชอาณาจักรยังมีปัจจัยอื่น ๆ มากมายที่เข้ามาประทบกับเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็น

    • สถานการณ์การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ
    • ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ 
    • นโยบายการคลังลดภาษีมูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ เป็นการลดครั้งใหญ่ในรอบหลายปีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
    • ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศ และ กดดันให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงเป็นประวัติการณ์

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ BOE ประกาศทำ QE โดยซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ ลดความผันผวนของค่าเงินปอนด์ แต่ก็แก้ปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น และทำให้ BOE ยังมีแนวโน้มที่จะคุมเข้มนโยบายทางการเงินต่อไปเหมือนประเทศอื่น ๆ 



เงินเยนอ่อนค่า ผลพวงจากแรงกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ

ข้ามฝั่งมาที่เอเชียที่มีการฟื้นตัว และ เปิดประเทศจากสถานการณ์ COVID-19 ช้ากว่าประเทศในฝั่งตะวันตก ต่างได้รับแรงกดดันจากความต่างด้านนโยบายการเงินกับสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก อย่างในประเทศญี่ปุ่น ที่แม้รัฐบาลจะพยายามแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินแข็งขึ้น แต่ก็ทำได้ชั่วคราวจากความต่างระหว่างนโยบายทางการเงินกับสหรัฐฯ (**) จึงทำให้

    • ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าที่ระดับสูงสุดในรอบ 32 ปี (เหนือระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์)
    • กระทบต่อภาวะค่าครองชีพในญี่ปุ่นสูงขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดังนั้นแนวโน้มการยุติการผ่อนคลายนโยบายการเงินจึงเป็นเรื่องยาก อีกทั้งการเข้าแทรกแซงค่าเงินก็มีเรื่องเงินทุนสำรองต่างประเทศที่เข้ามา ทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินของญี่ปุ่นมีความท้าทายเป็นอย่างมาก
** นโยบายทางการเงินสหรัฐฯเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ญี่ปุ่นยังมีทิศทางผ่อนคลาย และ คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ



เงินหยวนอ่อนค่าหนัก จากนโยบายการเงินที่แตกต่างจากสหรัฐฯ

ประเทศจีน เป็นอีกประเทศของโซนเอเชีย ที่คงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยจาก Zero-COVID ที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อในปี 2566 สร้างแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้ การลดลงของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และ ครัวเรือน หรือ ปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องจากปลายปี 2564

โดยตัวเลขเศรษฐกิจของจีน เช่น ดัชนี PMI และ ยอดค้าปลีก เริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย จึงคาดว่าจีนจะดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย และ ใช้เม็ดเงินจากรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่จากความต่างของนโยบายทางการเงินกับสหรัฐฯ เป็นแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินหยวนมีทิศทางอ่อนลงซึ่งปัจจุบันอ่อนค่าลงถึง 13% จากปลายปี 2564 จนทางการต้องเข้ามาแทรกแซงโดยการลดอัตราส่วนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงิน



เงินเฟ้อกดดันเศรษฐกิจและค่าเงินบาทไทย แม้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว 

แม้เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว แต่ยังคงได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยสาเหตุจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยปัจจุบันเงินบาทนั้นอ่อนค่าลงถึง 12% จากปลายปี 2564 ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วถึงสองครั้งในปีนี้

แม้เงินบาทจะยังมีทิศทางที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง กลับส่งผลบวกเศรษฐกิจไทย หรือ ภาคการส่งออกอย่างจำกัดเนื่องจาก

    • ค่าเงินของประเทศในเอเชียก็มีทิศทางอ่อนค่าลง จึงไม่ส่งผลบวกในด้านของราคาการส่งสินค้าออก
    • ความต้องการของสินค้าของตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากเศรษฐกิจโลกที่เผชิญแรงกดดันหลาย ๆ ด้าน

ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินจึงจะต้องใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง หรือ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนโดยไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน อาจจะต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับความผันผวนในระยะข้างหน้า โดยธนาคารกสิกรไทยมองว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 37.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และ จะยังมีทิศทางอ่อนค่าต่อไปในช่วงที่เหลือของปีจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED นั่นเอง

 


กลับ