Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​Highlight : 
    • สหัรัฐอเมริกา และ ยุโรป เผชิญปัญหาภัยแล้งขั้นรุนแรง ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรลดลง, การขนส่งสินค้า,  การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ และ ปัญหาอุปทานพลังงาน​
    • ด้านจีนก็เผชิญกับคลื่นความร้อน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเส้นทางขนส่งทางน้ำต่างๆ จนกลายเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกเหนือจากนโยบาย COVID-19 เป็นศูนย์ และ สถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์
    • ในอนาคตข้างหน้า “พลังงานทางเลือก” จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการควรศึกษาเพื่อนำพลังงานทางเลือกนี้มาประยุกต์ใช้ และ เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน ที่จะเลือกลงทุนในกิจกรรมที่เน้นพลังงานสะอาดเนื่องจากมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง และ ยั่งยืนในระยะยาว


ปัญหาของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ถูกกล่าวถึงมาทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภัยแล้งที่องค์กรสหประชาชาติ (UN) ได้ระบุไว้ว่าเมื่อปี 2541 – 2560 ภัยแล้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก และ ในปี 2565 นี้ ด้วยระดับคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนน้อยลง ทำให้ภัยแล้งกลายเป็นความรุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ ซึ่งอาจจะกลายเป็นความท้าทายใหญ่ของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้




ตะวันตกจำกัดการใช้น้ำ กระทบเศรษฐกิจ และ อุปทานโลก

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกฝั่งตะวันตก ต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากกว่า 2 ทศวรรษ จนเกิดผลกระทบมากมาย เช่น
    • ระดับน้ำในแม่น้ำโคโลราโด และ ทะเลสาบมี๊ดลดต่ำลง
    • เกิดการจำกัดการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ และ เปลี่ยนการจัดสรรน้ำ
    • อาจกระทบกับผลผลิตด้านพืชผลมากถึง 40%



ในขณะที่ทางฝั่งของยุโรปเองก็เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 500 ปี ซึ่งสำนักเฝ้าระวังภัยแล้งได้ออกมาระบุว่า 47% ของพื้นที่ยุโรปขาดความชื้นในดินขั้นรุนแรง ขณะที่อีก 17% อยู่ในสภานะแจ้งเตือนพืชพันธ์ุต่าง ๆ ได้รับผลกระทบ และ ระดับน้ำของแม่น้ำสำคัญทางการขนส่งก็ลดลง ซึ่งส่งผลต่อปัจจัยสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น
    • ผลผลิตทางการเกษตรในฤดูร้อน ลดลงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน
    • การขนส่งสินค้า จากการที่ระดับน้ำลดต่ำลง
    • การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ
    • ปัญหาอุปทานพลังงานจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น



“จีน”  ถูกภัยแล้งกดดัน ซ้ำเติมปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้

ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกตะวันออกอย่างประเทศจีนก็กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง จากคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ทศวรรษ จนสำนักอุตุนิยมวิทยาจีน (China Meteorologinal Administration (CMA)) ได้ออกมาประกาศแจ้งเตือนภัยในระดับสีแดง (*) ซึ่งคลื่นความร้อนนี่ได้ส่งผลกระทบให้ “แม่น้ำแยงซี” ซึ่งเป็นแหล่งขนส่งทางน้ำที่สำคัญที่สุดของจีนมีระดับน้ำลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ จนกลายเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจนอกเหนือจากการปิดเมืองของนโยบาย COVID-19 เป็นศูนย์ และ สถานการณ์ของอสังหาริมทรัพย์



จากปัญหาคลื่นความร้อนรุนแรงนี้ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ได้ออกมาคาดการณ์ว่า จะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจของจีน เพราะกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็ก เคมี และ ปุ๋ยที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในพื้นที่มณฑลเสฉวนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลในด้านต่าง ๆ เช่น
    • ภาคการผลิตของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ และ ยานยนต์ เพราะ เป็นฐานการผลิตลิเธียม 20% โพลีซิลิคอน 13% และ อะลูมีเนียม 5% ของประเทศ ซึ่งถูกใช้ใน Supply Chain ของอุปกรณ์เหล่านี้​
    • ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยลงเกินกว่าครึ่ง เพราะ มณฑลเสฉวนเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำของประเทศ
    • โรงงานใน 19 จาก 21 เมือง ต้องหยุดการผลิต เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถไฟฟ้าใช้ได้เพียงพอ ส่งผลให้การผลิตเกิดการหยุดชะงัก
​(*) ระบบแจ้งเตือนภัยสภาพอากาศของจีนแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามสี โดยสีแดง หมายถึง รุนแรงที่สุด ตามด้วยสีส้ม สีเหลือง และ สีน้ำเงิน



อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับปัญหาไฟฟ้าดับของปี 2564 ที่เกิดขึ้นใน “กวางตุ้ง” คาดว่าปัญหาของไฟฟ้าการตัด หรือ งดจ่ายไฟฟ้าในรอบนี้ จะมีผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจาก มณฑลเสฉวน มีสัดส่วนด้านการผลิตเพียง 4% ของอุตสาหกรรมในประเทศจีน แต่จะส่งผลกับระดับราคาชิ้นส่วนเนื่องจากมีการผลิตวัสดุบางส่วนในเสฉวนเป็นหลัก และส่งผลต่อ Supply Chain ของการผลิตแทนนั่นเอง



ปัญหาสภาพอากาศ เพิ่มโอกาสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

จากภัยแล้งที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง กระทบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั้ง 3 นั้น ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต ทั้งพืชผัก และ การผลิตระดับพลังงาน ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายที่เข้ามาเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 2565 และ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจหลักของโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลดลง ทั้งนี้ ปัญหาสภาพอากาศจะกลายเป็นปัญหาที่จะต้องเผชิญไปในทุก ๆ ปีเรียกว่าเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขในระยะยาว

ดังนั้นในอนาคตข้างหน้า “พลังงานทางเลือก” จะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการควรศึกษาเพื่อนำพลังงานทางเลือกนี้มาประยุกต์ใช้ และ เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุน ที่จะเลือกลงทุนในกิจกรรมที่เน้นพลังงานสะอาดเนื่องจากมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง และ ยั่งยืนในระยะยาว

Source :

 


กลับ