สหรัฐฯ และ อังกฤษ เริ่มคุมเข้มนโยบายการเงิน
ธนาคารกลางสหรัฐฯ และ อังกฤษเริ่มลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ปลายปี 2564 ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เกิดปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันก็เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากฝั่งอุปสงค์ที่ได้เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2565 และ ถูกกดดันเพิ่มเติมจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการปรับเพิ่มขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แรงกดดันดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ เริ่มปรับทิศทางเพื่อเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของตน ไม่ว่าจะเป็น
- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีการปรับดอกเบี้ยกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 หรือระดับ 0.75% ตั้งแต่เดือนมีนาคม
- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับก่อนเกิด COVID-19 หรือที่ระดับ 1.50% ตั้งแต่เดือนเมษายน
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 0.25% เมื่อเดือนมีนาคม และยังส่งสัญญาณว่าในระยะข้างหน้าจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งผลสำรวจความน่าจะเป็นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นั้น มีโอกาสถึง 43.8% ที่จะทำให้ Fed Fund Rate สิ้นปี 2565 นี้อยู่ที่ 2.5 – 2.75% (จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.8%) ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า
- Fed มีแนวโน้มจะปรับดอกเบี้ยในทุกครั้งของการประชุม และ ในบางครั้งอาจมีการปรับขึ้นมากกว่า 0.25%
- มีการส่งสัญญาปรับลดงบดุลเร็วกว่ากำหนด
Source: Federal Reserve Bank of St. Louis
ทั้งหมดถือเป็นสัญญาณการสิ้นสุดนโยบายการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้เกิดความกังวลว่า การเร่งคุมเข้มนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่
แต่เมื่อพิจารณาส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี และ 10 ปี พบว่าส่วนต่างอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจึงยังไม่น่าจะเกิดในช่วงระยะ 1 ปี ข้างหน้า แต่ยังคงต้องจับตาความเสี่ยงของสถานการณ์รัสเซีย - ยูเครน และ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ Fed อย่างใกล้ชิดต่อไป
ASEAN เริ่มฟื้นตัวภายใต้แรงกดดันของเงินเฟ้อ
เมื่อมองกลับมาที่ฝั่งของอาเซียน จะพบว่ามีความแตกต่างจากฝั่งตะวันตกค่อนข้างมาก โดยเศรษฐกิจของประเทศในแถบอาเซียน กำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าและพลังงานในอัตราที่สูง เช่น
- สิงคโปร์ – เป็นชาติแรกในอาเซียน ได้มีการคุมเข้มนโยบายทางการเงินผ่านการกำหนดกรอบอัตราการแลกเปลี่ยน
- ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ ไทย – แม้จะยังไม่ได้มีนโยบายออกมาชัดเจน แต่เพราะมีการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ และ พลังงานในอัตราที่สูง ทำให้ต้องเผชิญกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้ธนาคารกลางต้องพิจารณาการคุ้มเข้มนโยบายทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาดำเนินนโยบายทางการเงินนั้น นอกเหนือจากเงินเฟ้อแล้วธนาคารกลางยังต้องพิจารณาปัจจัยความพร้อมของเศรษฐกิจที่จะรองรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยควบคู่ไปด้วย
ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนบางประเทศ พบว่า มีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า ดังนั้น ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ หรือ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาหาจังหวะในการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน
การคุมเข้มนโยบายทางการเงินเร็วกว่าที่ควร อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภค การลงทุน และ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้
|
นอกเหนือจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อภายในประเทศแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ คือ การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า ซึ่งจะทำให้เกิด
- แรงกดดันที่จะเกิดภาวะเงินทุนไหลออก
- ค่าเงินในภูมิภาคนั้นเกิดการอ่อนค่าลงได้ อันเป็นผลมาจากการที่ Fed ได้มีการคุมเข้มนโยบายของตัวเอง
โดยประเทศที่มีความเสี่ยงเงินทุนไหลออกมากที่สุด คือ มาเลเซีย เพราะ นอกจากเงินเฟ้อภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ยังมีสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อเงินทุนสำรองที่ค่อนข้างสูง ซึ่งนักลงทุนไทยต้องติดตามสถานการณ์ของมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง ว่าผลกระทบนี้จะส่งต่อมายังเศรษฐกิจของประเทศไทยหรือไม่
ที่มา : Central Bank, CEIC, KReserach
เป้าหมายเงินเฟ้อเทียบกับระดับเงินเฟ้อล่าสุด
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดไทยไม่ปรับนโยบายการเงิน
เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยนั้นอยู่เหนือกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ มีแนวโน้มที่จะอยู่สูงอย่างนี้ไปตลอดทั้งปี อันเนื่องมาจากต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ประกอบกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 และ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
โดยภายใต้สถานการณ์ของไทยนี้ ธปท. จะให้น้ำหนักในส่วนของประเด็นเศรษฐกิจ และ เป้าหมายเงินเฟ้อระยะกลาง ดังนั้นทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า ธปท. จะยังไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในปีนี้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามประเด็นที่อาจจะส่งผลกระทบในระยะข้างหน้า เช่น
- แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเพื่อนบ้าน
- การปรับดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งจะสร้าง แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เงินทุนไหลออกนอกประเทศ และ อาจกระทบค่าเงินบาท
นโยบายสองภูมิภาค ส่งผลต่อค่าเงินบาท
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีแนวโน้มในการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน แต่ความแตกต่างของนโยบายใน 2 ภูมิภาคนี้มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และ สถานการณ์ของค่าเงิน ดังนี้
- ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนนโยบายที่รวดเร็ว และ แรงของ Fed
- เงินบาทของไทย มีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงจากปัจจัยดังกล่าว โดยห้องค้ากสิกรไทยมองว่า จะอ่อนค่าอยู่ที่ 34.00 – 34.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในครึ่งแรกของปี
ดังนั้น “ผู้ประกอบการ” ที่วางแผนจะนำเข้า หรือ ส่งออกสินค้า อาจจะต้องมีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ส่วน “ผู้ลงทุน” ที่ลงทุนในกองทุนต่าง ๆ อาจพิจารณาในส่วนของการป้องกันความเสี่ยงของกองทุนนั้นควบคู่กันไป