Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​

        ถ้าอยากรู้ว่าใครเป็น “ผู้นำตัวจริง” ให้ดูในช่วงวิกฤต เพราะ ในสภาวะคับขันเช่นนี้ “การตัดสินใจ และ วิธีการลงมือทำ” จะเป็นตัวชี้วัดภาวะความเป็นผู้นำให้ปรากฎแก่สายตาชองคนในองค์กร อาจเรียกได้ว่า วิกฤต คือ สถานการณ์ที่จะทำให้เห็นว่า ใครเป็นอย่างไรได้อย่างชัดเจนที่สุด และ แน่นอนว่า ทุกองค์กรยอ่มต้องการผู้นำตัวจริง (Real Leader) เพื่อมาช่วยแก้ปัญหา และ นำมาธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตไปให้ได้

Check-List คุณสมบัติผู้นำในยุควิกฤตที่ต้องมี!!
ในฐานะผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจอาจจะได้ชื่อว่าเป็นเจ้านายที่มีลูกน้องนับร้อยนับพัน แต่ความเป็นเจ้านายอาจจะไม่ได้มาพร้อมกับ “ความเป็นผู้นำ” ยิ่งในโลกยุคใหม่ที่ต้องอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และ ความท้าทาย รวมทั้งวิกฤต COVID-19 ที่เกิดขึ้น คนที่จะลุกขึ้นมาลุยในบทบาทของผู้นำได้ จะต้องมีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี 5 ประการ ซึ่งเรียกย่อ ๆ ว่า TEAMS

T – TARGET ผู้นำต้องมองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจน และ สามารถกำหนดเป้าหมายให้กับทีมงานได้เห็นตรงกันด้วย
E – EDUCATE ผู้นำที่ดีต้องพัฒนาทีมได้ เพื่อให้มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถเพียงพอที่จะไปสู่เป้าหมาย
A – ASSIST ผู้นำต้องคอยช่วยแก้ปัญหา ให้คำแนะนำสนับสนุน เพื่อทำให้ทีมไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน
M – MOTIVATE ผู้นำต้องดูแลเอาใจใส่ ให้กำลังใจ เพื่อให้พนักงานไม่รู้สึกท้อแท้ในยามที่ต้องเจอกับปัญหา
S – SET EXAMPLE ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับทีมได้ ต้องเป็นคนที่ทำหน้าที่เป็น Role Model ให้กับพนักงาน

บทบาทของผู้นำในภาวะวิกฤตกับช่วงเวลาปกติ จะมีทั้งส่วนที่เหมือน และ แตกต่างกัน โดยส่วนที่เหมือน คือ ผู้นำในบริบทของการทำงาน ย่อมหมายถึง หัวหน้า ซึ่งต้องใช้ทั้ง “หัว” และ “หน้า” กล่าวคือ หน้าที่ของผู้นำ คือ การใช้ “หัว” ในการคิด วิเคราะห์ มองการณ์ไกล รู้จักแก้ปัญหา และ กล้าตัดสินใจ และ ต้องเป็น “หน้า” ในที่นี้หมายถึง ผู้นำต้องอยู่ให้ “เห็นหน้า” ไม่หายไปไหน ต้อง “ออกหน้า” เวลามีปัญหาเกิดขึ้น และต้อง “รับหน้า” หากลูกน้องทำไม่ถูก หัวหน้าต้องมีหน้าที่ออกรับแทน ไม่ใช่โยนให้ลูกน้องรับผิด 
ส่วนบทบาทที่แตกต่างนั้น ผู้นำในสถานการณ์วิกฤต ต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากเป็นในสถานการณ์ปกติ ผู้นำอาจสนใจ และ ใส่ใจกับเรื่อง Input หรือ การกระทำของลูกน้องในการทำงาน เรียกว่าเป็นการคอยติดตามสอดส่องพฤติกรรมของลูกน้อง แต่เมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น โอกาสที่จะไปสนใจสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นไปได้ยาก เพราะองค์กรหลายแห่งปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Work From Home ฉะนั้นผู้นำต้องเปลี่ยนหันมาสนใจ Output หรือ การดูที่ผลของงานแทน

นอกจากนั้น ยังต้องใช้หลักในการบริหารตามสถานการณ์ หมายถึง ไม่สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งเพียงอย่างเดียว กับพนักงานทุกคนได้ ผู้นำต้องบริหารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือ เหมาะกับคนแต่ละคน โดยดูจากความพร้อมในการทำงานของคน ๆ นั้น ว่ามีมากน้อยเพียงใด มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างไร หรือ มีประสบการณ์แบบไหน เป็นต้น

ทักษะผู้นำแบบไหน? ช่วยให้องค์กรรอดวิกฤต
หากพูดถึงเรื่องของทักษะ (Skills) แบบไหน? ที่ผู้นำต้องมี เพื่อช่วยให้องค์กรรอดได้นั้น นอกจากทักษะทั่วไปที่ผู้นำต้องมีแล้ว เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการบริหารทีม ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการแก้ปัญหา การตัดสินใจ และ ทักษะการบริหารอารมณ์ หรือ EQ ( Emotional Quotient) ในยุคที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างทุกวันนี้ ผู้นำยังต้องมีเพิ่มอีก 4 ทักษะ เพื่อนำพาองค์กรให้เกิดต่อท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ได้แก่

ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการเงิน (Financial Literacy)
จากวิกฤตครั้งนี้จะได้ยินอยู่บ่อยครั้งว่า Cash is King หรือ เงินสดคือหัวใจสำคัญ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ผู้บริหาร หรือ เจ้าของกิจการหลายคนไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการบริหารการเงิน ดังนั้น จึงเป็นอีกทักษะที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม
ความรู้ความเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยี (Technology Literacy)
ไม่ใช่แค่รู้ว่า LINE ใช้อย่างไร Facebook โพสต์อย่างไร แต่ต้องเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วย เช่น เมื่อพูดถึง Big Data , Blockchain , Bitcoin หรือ Cryptocurrency ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำเป็น แต่อย่างน้อยต้องเข้าใจว่า คืออะไร เพราะ ถ้าไม่รู้เลย โอกาสที่จะปรับตัวก็จะยากขึ้นตามไปด้วย
ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการข้อมูล (Data Analytics)
ในอดีตเวลาทำอะไรไม่ได้ คนมักจะบอกว่า เป็นเพราะข้อมูลไม่พอ แต่ในปัจจุบันปัญหาไม่ได้อยู่ที่การมีข้อมูลไม่พอ แต่กลับมีข้อมูลมากเกินไป จนไม่รู้ว่าจะใช้ข้อมูลอันไหนให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้น ผู้นำจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
พูดง่าย ๆ คือ ผู้นำต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หรือ ไม่ชัดเจน โดยใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ เป็นการคิดอย่างถี่ถ้วน และ มีเหตุผล ซึ่งทักษะการคิดเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤต ถือเป็นอีกทักษะที่ผู้นำต้องมีติดตัว

ผู้นำตัวจริง! ต้องทั้งเก่ง และ ดี
ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ก็เพื่อเป็นการปูทางสู่การเป็นผู้นำในอุดมคติที่ต้องเป็นทั้ง “คนเก่งและคนดี” โดยความดี คือ การเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต รับปากแล้วทำตามที่พูด เป็นต้น ส่วนความเก่งนั้น ในฐานะผู้นำต้องมีความเก่งให้ครบทั้ง 5 ประการ ได้แก่

  • เก่งงาน หมายถึง ทำงานอะไรก็ต้องเก่งเรื่องนั้น ทำธุรกิจก็ต้องเก่งธุรกิจ เป็นฝ่ายขายก็ต้องเก่งการขาย
  • เก่งคน แปลว่า ต้องสามารถบริหารจัดการคนได้ ซื้อใจคนเป็น
  • เก่งตน คือ สามารถบริหารจัดการตัวเองได้ เช่น บริหารอารมณ์ของตัวเองได้ มีทักษะในการบริหารจัดการเวลาที่ดี เป็นคนมีวินัยในการทำงานเป็นต้น
  • เก่งคิด คือ ต้องเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ และ รู้จัก คิดวิเคราะห์ ให้เป็น
  • เก่งเปลี่ยนแปลง ผู้นำต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หากเก่งงาน เก่งคน เก่งตน เก่งคิด แต่ไม่เก่งเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นผู้นำที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ไม่กล้าออกนอน Comfort Zone การเติบโตก็จะไม่มี

        ติดตามอ่านเรื่องราวน่าสนใจจาก K SME INSPIRED เพื่อผู้ประกอบการ และ ผู้บริหารได้ ที่นี่​



กลับ