Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​ ปัจจัยสำคัญที่เหล่าบรรดานักลงทุน หรือ ผู้ประกอบการต่างต้องให้ความสนใจนอกเหนือจากปัจจัยเงินเฟ้อที่มีความน่าเป็นห่วงอยู๋ในขณะนี้ ปัญหาราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น หรือ จะเป็นสถานการณ์ COVID-19 ที่ยืดเยื้อต่อกันมา ยังมีอีก 1 ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือเรื่องของ RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่มีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา




        RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement - FTA) ฉบับที่ 14 ของไทย โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ มีประชากรรวมกัน 2,300 ล้านคน (30.2% ของประชากรโลก) GDP รวมมูลค่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก) และ มูลค่าการค้ารวม 10.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (30.3% ของมูลค่าการค้าของโลก) จึงกลายเป็นความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเหตุนี้จะให้การค้าระหว่างประเทศสมาชิกมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และ ช่วยส่งเสริมให้ตลาดในกลุ่มสมาชิกมีความสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกข้อตกลง RCEP นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักด้วยกัน คือ ​



ผลบวกทางตรง
ลดภาษีในบางกลุ่มสินค้า

แม้ว่าเดิมไทยจะมีการเจรจา FTA (เขตการค้าเสรี) กับ ประเทศอาเซียนบ้างอยู่แล้ว แต่บางกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว และ อ่อนไหวสูง ยังคงมีการจัดเก็บภาษีอยู่ ซึ่งภายใต้การเข้าร่วม RCEP สินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะถูกปรับลดอัตราภาษีเหลือ 0 ในทันที หรือ บางรายการอาจจะทยอยลดเป็นขั้นบันได 
ดังนั้น ในส่วนนี้ผู้ประกอบการอาจต้องศึกษา และ ทำความเข้าในเพื่อพิจารณาเลือกใช้ประโยชน์ทางสิทธิภาษีของแต่ละข้อตกลงทางการค้าในแต่ละกลุ่มสินค้า อาทิ การเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก RCEP กับสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูงในตลาดจีน และ เกาหลีใต้ เช่น สัปปะรด เม็ดพลาสติก จะได้รับประโยชน์ทางภาษีมากกว่าข้อตกลงการค้าเดิม เป็นต้น

ผลบวกทางอ้อม
ขยายโอกาสของสินค้าขั้นกลาง

​สินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) หมายถึง สินค้าที่ถูกผลิตออกมาเพื่อใช้สำหรับผลิตสินค้าชนิดอื่น ๆ ในขั้นตอนต่อไป

สินค้าขั้นกลางของไทยที่เกาะติดห่วงโซ่การผลิตของประเทศที่ไม่เคยมี FTA ต่อกันอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ นิวซีแลนด์ มีโอกาสขยายตัวมากขึ้น เช่น เคมีภัณฑ์บางประเภทที่ส่งไปยังเกาหลีใต้


ผลบวกทางด้านการลงทุน 
ไทยเข้าห่วงโซ่การผลิตโลก สร้างโอกาสรับเม็ดเงินมหาศาล

กรอบความร่วมมืออย่าง RCEP ส่งผลให้ไทยได้เข้าอยู่ในห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย ทำให้ไทยมีโอกาสได้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมต่อยอดการผลิต ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในอนาคตต่อไปได้ เช่น เรื่องของ การประกอบวงจรพิมพ์ หรือ ยานยนต์ อย่างไรก็ตามการเปิดกว้างขึ้นนี้ก็จะทำให้ไทยต้องเผชิญกับคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น เช่น เวียดนาม ดังนั้นภาครัฐอาจต้องเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่การผลิตแห่งอนาคต เช่น การเร่งดึงดูดการลงทุนเชิงรุก เป็นต้น


คลิกที่ภาพ เพื่อขยายรายละเอียด

​        ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวที่เคยเป็นปัจจัยหลักได้ลดบทบาทลง ในขณะที่ภาคการส่งออกมีความสำคัญมากขึ้น โดยในปี 2564 ช่วง 11 เดือนแรก เติมโตได้ 28.18% (ซึ่งตลาดส่งออกสำคัญกว่า 53.3% นั้นเป็นกลุ่มประเทศ RCEP)
        ฉะนั้นการมีผลบังคับใช้จากข้อตกลงดังกล่าว จะช่วยส่งเสริมให้กลุ่มสินค้าของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น รวมถึงโอกาสที่จะมีการลงทุนทางตรงจากตรงประเทศด้วยเช่นกัน



        สรุปแล้วเมื่อตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยจึงมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะการหาโอกาสทางอ้อมจากประเทศสมาชิกที่ไม่เคยมีข้อตกลงการค้าระหว่างกันมาก่อน เช่น จีน-ญี่ปุ่น ญี่ปุ่น-เกาหลี ญี่ปุ่น-นิวซีแลนด์ เป็นต้น 

        อย่างไรก็ตามการเปิดกว้างนี้ก็มาพร้อมการแข่งขึ้น เนื่องจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น เวียดนาม และ อินโดนิเซีย ต่างก็ได้รับโอกาสนี้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษากฏเกณฑ์นโยบายของความตกลงการค้าดังกล่าวและเตรียมพร้อมเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้ธุรกิจหรือสินค้าของตนเองได้รับประโยชน์สูงสุดเพื่อให้เติบโตและขยายตัวไปยังประเทศอื่น ๆ มากขึ้น

ผู้เขียน
นางสาวจิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กลับ