Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​        หลังจากที่ประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เป็นระยะเวลากว่า 2 ปี และในช่วงเวลาสิ้นปีเช่นนี้ เสมือนเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน ที่สถานการณ์นี้ได้เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ภาครัฐเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดต่าง ๆ และเริ่มมีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา 


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้หลายความเสี่ยงที่ไทยต้องเผชิญ


        จากการเปิดประเทศนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.8 แสนคน จาก 1.5 แสนคน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดซ้ำของ COVID-19 ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ทำให้พืชผักมีราคาสูง รวมถึงราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและภาระค่าครองชีพ ซึ่งความเสี่ยงที่กล่าวมา โดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมัน ที่ต่างเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้นตัว ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเข้าสู่ภาวะ stagflation (stagnation + inflation) โดยภาวะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในไทยเมื่อ 40 ปีก่อน (พ.ศ. 2523) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำติดต่อกันหลายปี ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกิน 10% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น​

Stagflation : คือ ภาวะที่เกิดความผิดปกติทางเศรษฐศาสตร์ คือ การที่เงินเฟ้อ (Inflation) และ ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากการว่างงานสูง (Stagnation) เกิดขึ้นพร้อมกัน และ หากเกิดขึ้นการแก้ปัญหาภาวะการณ์นี้จะเป็นไปได้ยาก



ทิศทางที่​ต้องเฝ้าระวัง และ ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา

        เศรษฐกิจในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ที่ 3.7% จากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่
    • ความครอบคลุมของจำนวนของประชากรที่ได้รับวัคซีน (>70%) ทำให้ความจำเป็นในการใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมีน้อยลง 
    • การใช้จ่ายของครัวเรือน ได้รับปัจจัยบวกจากเรื่องฐานที่ต่ำและผลของ pent-up demand
    • ราคาน้ำมันมีแนวโน้มกลับสู่จุดสมดุลระหว่างปริมาณการผลิต และ ความต้องการใช้ สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอการเติบโตลง 

        โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะอยู่ที่ 1.6% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ stagflation 



        แต่อย่างไรก็ตาม หากความเสี่ยงราคาน้ำมันในตลาดโลกยืนระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง จะส่งผลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก กำลังซื้อของประชาชนถูกลดทอนลงท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะ stagflation ได้ในที่สุด


ลงทุนให้เหมาะสม ช่วยสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้า

        ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญที่จะทำให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนตามเป้าหมาย เช่น ในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง การลงทุนในทองคำอาจเข้ามาช่วยในเรื่องของการปกป้องความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ เช่น นโยบายการเงิน ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามข่าวสารต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนให้เหมาะสม 

ผู้เขียน
จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


กลับ