Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​

        อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการชะลอตัวลดลงเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเดือนตุลาคมได้ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือน อยู่ที่ -0.31& YoY สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ว่าจะต้องเผชิญกับการใช้จ่ายที่อ่อนแรงลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ 

    • มาตรการอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ เช่น การลดค่าไฟฟ้า และ ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล
    • ราคาพลังงานในตลาดโลกไม่ผันผวนเท่าที่คาดไว้ เพราะ ความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และ ฮามาสยังจำกัดอยู่ในพื้นที่ ไม่กระทบด้านอุปทาน และ ในขณะเดียวกันอุปสงค์ของน้ำมันก็ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก
    • เศรษฐกิจจีน ยังคงมีปัจจัยฉุดรั้ง จากวิกฤตด้านอสังหาริมทรัพย์ หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น และ อุปสงค์จากภายนอกที่เปราะบาง
    • เศรษฐกิจสหรัฐฯ และ ยูโรโซน ได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางในประเทศ 

        อย่างไรก็ตามแม้ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์เรื่องผลกระทบของสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งนั้นไทยมีปริมาณน้ำสะสมจากปีก่อนหน้าที่ค่อนข้างมาก ทำให้ผลผลิต และ ราคาสินค้าเกษตรของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบ 



ปัจจัยที่รุมเร้า จ่อฉุดเศรษฐกิจโลกกระทบราคาพลังงาน

        ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกนั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉลี่ยในปี 2567 ทั้งราคาพลังงาน และ สินค้าเกษตร อาจไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เคยคาดการณ์เอาไว้ แต่ไนระยะข้างหน้ายังมีความเป็นไปได้ที่ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์จะกลับมามีความผันผวน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความไม่แน่นอนของปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามระหว่างรัสเซีย – ยูเครน และ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ฮามาส 

        โดยเฉพาะหากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และ ฮามาส เกิดความรุนแรง ลุกลามออกไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งประกอบด้วยผู้ผลิต และ ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาจส่งผลให้เกิดการชะงักครั้งใหญ่ (Large Disruption) โดยธนาคารกลางโลก (World Bank) ได้เปรียบผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นว่าอาจเทียบเท่ากับการคว่ำบาตรน้ำมันอาหรับเมื่อปี 2516 โดยจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันปรับลดลง และ นำไปสู่การปรับขึ้นของราคาน้ำมันให้แตะเกินกว่า 150 ดอลลาร์ฯ ต่อบาเรล นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจมีความยืดเยื้อโดยคาดการณ์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกว่าจะมีผลไปจนถึงเดือนเมษายน 2567 เป็นอย่างน้อยเลยทีเดียว 



ตลาดไทยมีหวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ต้องจับต​า

        แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความกังวลเรื่องการใช้จ่ายที่อ่อนแรง แต่ในปี 2567 ยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 (โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ไว้ที่ 2.5%YoY) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ และ ยังมีภาคการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก หลังจากช่วงไตรมาสที่ 3/2566 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยเริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเป็นผลมาจากปัจจัยด้านฐานในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ 

        นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าอาจจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 อาทิ โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ขยายตัวได้ดีขึ้น ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงิน และ หนี้ครัวเรือนที่สูง อีกทั้งยังจะส่งผลบวกต่อเนื่องไปยังภาคการผลิต และ การจ้างงานภายในประเทศได้ด้วยเช่นกัน 

        อย่างไรก็ตามแม้อัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันจะมีการปรับตัวลดลงอย่างมาก แต่ในระยะข้างหน้าหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นความท้าทายของการดำเนินมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดราคาพลังงาน และอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ 

        โดยสรุปแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงมีความเปราะบาง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดโลก เช่น

    • ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์
    • สภาพอากาศที่แปรปรวน
    • ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

        ผู้ประกอบการ และ นักลงทุนจึงควรตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ และ การลงทุนอย่างรอบคอบ เพราะ เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่

​​


กลับ