Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ศูนย์กลางโลจิสติกส์ E-commerce ภูมิภาค... โจทย์สำคัญของไทยเพื่อแสวงหาโอกาสในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ศูนย์กลางโลจิสติกส์ E-commerce ภูมิภาค... โจทย์สำคัญของไทยเพื่อแสวงหาโอกาสในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของโลกไปสู่ยุคดิจิทัลที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง E-commerce ที่เป็นสื่อกลางให้ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเข้าถึงตลาดขนาดมหาศาลอย่าง E-marketplace ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง E-commerce แบบ B2B ที่น่าจะทวีบทบาทขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลจะเพิ่มความสามารถในการแสวงหาคู่ค้าที่ตอบสนองภาคธุรกิจได้ดีที่สุด นำมาซึ่งการเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่อุปทาน E-commerce ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก

ห่วงโซ่อุปทาน E-commerce ประกอบด้วย E-marketplace ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-payment) และระบบโลจิสติกส์ ขณะที่ E-marketplace และ E-payment เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนเนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสู งอีกทั้งปัจจุบันมีผู้นำตลาดอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา แต่ระบบโลจิสติกส์มีความแตกต่างออกไป เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้เล่นในแต่ละภูมิภาคสามารถแสวงหาประโยชน์จากความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ทำให้มีความสามารถเข้าถึงตลาดเพื่อให้บริการได้ดีกว่า

ไทยควรเร่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน E-commerce โลก ซึ่งเริ่มแรกควรสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ E-commerce ภูมิภาคกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป ซึ่งมีความใกล้ชิดกับไทยก่อน โดยทั้งในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานและด้านความสะดวกต่างๆ เช่น กระบวนการศุลกากรกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเสียจุดแข็งทางด้านทางภูมิศาสตร์ที่ปัจจุบันไทยเป็นสะพานและเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคนี้อยู่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากไทยสามารถดึงดูดการลงทุนพัฒนา E-commerce Ecosystem ที่สนับสนุนการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ E-commerce ของภูมิภาคกลุ่มประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปยัง CLMV เติบโตกว่าในกรณีปกติ โดยจะทำให้สินค้า E-commerce ของไทยส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสัดส่วนการส่งออกผ่าน Cross border E-commerce ในปี 2563 สูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.3-15.4 ของการส่งออกของไทยไปยัง CLMV ทั้งหมด นำมาซึ่งการขยายตัวของการส่งออกในปีดังกล่าวในกรอบร้อยละ 6.3-7.4 เหนือกว่าในกรณีปกติ ที่น่าจะเติบโตร้อยละ 4.8 หรือส่งผลให้การส่งออกไทยไป CLMV มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 400-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 จากมูลค่าการส่งออกในกรณีการค้าแบบดั้งเดิมที่ 26,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กลับ