ภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้จะมีสะดุดจากเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง ทั้งการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และการประกาศลดค่าเงินหยวนของจีน แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงเติบโตได้ในระดับที่ดี และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ในปีนี้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายธนาคารกลางของประเทศสำคัญๆ ของโลก จากการ “เน้น” ใช้นโยบายกระตุ้นทางการเงิน กลายเป็นการ “ปรับลด” นโยบายกระตุ้นทางการเงิน ประเด็นที่น่าสนใจคือตลาดหุ้นทั่วโลกที่เคยได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นทางการเงินมาตลอด หากนโยบายดังกล่าวถูกปรับลดแล้วตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง Fed มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง ล่าสุดดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งสัญญาณว่าจะเริ่มดำเนินการปรับลดขนาดงบดุลในปีนี้
ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
เศรษฐกิจยุโรปที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีในปีนี้ส่งผลให้ ECB เริ่มทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจลง โดยตลาดเชื่อว่าจะประกาศลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ลงจากปัจจุบันที่ 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เป็น 4 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนภายในปีนี้ และอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า
ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)
BoE ส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากค่าแรงปรับตัวขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ)
BoJ เป็นธนาคารกลางที่ยังคงท่าทีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อเนื่อง แต่นโยบายที่สวนทางกับธนาคารกลางหลักอื่น ๆ นั้นน่าสนใจอย่างยิ่งว่า BoJ จะสามารถทนทานต่อแรงกดดันได้นานเท่าไร
สัญญาณเรื่องการทยอยถอนมาตรการการกระตุ้นทางการเงินของธนาคารกลางหลักของโลกหลายแห่งนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งอาจทำให้ตลาดทางการเงินในช่วงที่เหลือของปีมีความผันผวนมากขึ้น แนะนำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2017 โดยกองทุนรวมผสม (Balanced fund) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจ