Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​        ตั้งแต่ปี 2018 – 2022 ที่ผ่านมา มีธุรกิจเปิดตัว และ ปิดตัวลงจำนวนมากเฉลี่ยปีละ 71,276 รายต่อปี และ 21,206 รายต่อปีตามลำดับ และ หลังจากการผ่านพ้นไปของวิกฤติโควิด ทำให้ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น
    • การคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (*)
    • ความต้องการมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ รวดเร็วมากขึ้น
    • มุ่งเน้นใส่ใจในคุณภาพและสิ่งแวดล้อม
    • ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรักษายอดขายและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
* มูลค่าตลาด B2C E-commerce ในประเทศไทย ปี 2020 – 2022 เติบโตเฉลี่ยปีละ 26% 

4 กุญแจสำคัญห้ามพลาด เมื่อต้องดำเนินธุรกิจ



1. มองตลาดใหญ่ เข้าใจ Pain point : มองหาตลาดที่ยังมีศักยภาพโตได้จากการที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง (Mass market) ที่สำคัญจะต้องเข้าใจ Pain point ของลูกค้าตลอดเส้นทาง (Customer journey) เพื่อให้สามารถนำมาคิดค้น ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปิด Pain point เหล่านั้นได้ รวมถึงสร้างประสบกาณ์ที่ดีให้กับลูกค้าจนอยากกลับมาใช้อีกในครั้งต่อ ๆ ไปหรือเกิดการบอกต่อ โดยมีตัวอย่างดังนี้
    • Carenation ธุรกิจพวงหรีดกระดาษ ที่เริ่มจากเห็นตลาดพวงหรีดเป็นตลาดใหญ่ มีคนต้องการใช้ทุกวัน แต่พวงหรีดทั่วไปเมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลายมาเป็นขยะ จึงเกิดเป็นโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคม
    • PASAYA ธุรกิจสิ่งทอ ที่ได้มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจจากเดิมโดยหันมาทำ Branding และนำ Pain point ของลูกค้าในเรื่องผิวสัมผัสมาปรับผลิตภัณฑ์ให้เน้นคุณภาพ ตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม
    • Moreloop ธุรกิจตัวกลางในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่แก้ Pain point เรื่องปัญหาเศษผ้าเหลือจากการผลิต โดยสร้างแพลตฟอร์มมาช่วยให้เกิดการซื้อขายระหว่างโรงงานตัดเย็บที่มีเศษผ้าเหลือ และกลุ่ม SMEs ที่ต้องการนำผ้าไปใช้ต่อ 

2. ปรับเปลี่ยนได้ไว เน้นประยุกต์ใช้เทคโนโลยี : ทำธุรกิจแบบยืดหยุ่น ปรับโมเดลธุรกิจได้เร็วเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ (Core value) ของธุรกิจไว้ โดยเริ่มจากสเกลเล็กไปใหญ่ ผนวกกับการนำเทคโนโลยีอย่างอุปกรณ์ดิจิทัล และ ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ มาช่วยบริหารจัดการทั้งหน้าบ้าน และ หลังบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงานระยะยาวและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า



3. เชื่อมบริการไร้รอยต่อ ต่อยอดเครือข่าย : มีช่องทางการขายทั้งออฟไลน์ และ ออนไลน์ (*) รวมถึงการเชื่อมต่อช่องทางต่าง ๆ อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีไม่ต่างกัน ซึ่งเจ้าของกิจการก็มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น เร็วขึ้น และ มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ตลอดจนมองหากลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Top spenders และ สิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมหาโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับลูกค้า เพื่อนำเสนอกิจกรรมตลาดได้ตรงจุด และ ซัพพลายเออร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบ
* We are Social ระบุ ในปี 2566 คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สูงถึง 85.3% ของประชากรทั้งหมด 

4. เพิ่มมูลค่า ตอบสนองเทรนด์โลก : ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และการยกระดับการทำธุรกิจตามหลัก ESG ผ่านการปรับกระบวนการ หรือ ผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดรับกระแสความยั่งยืนที่มีแนวโน้มกลายมาเป็นเทรนด์สำคัญของโลกในระยะข้างหน้า เช่น
    • การประหยัดพลังงาน
    • ใช้พลังงานสะอาด
    • การใช้บรรจุภัณฑ์สีเขียว
    • การขอรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือ องค์กร เป็นต้น 

5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล ตัวช่วยสำคัญของธุรกิจ 

        เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มยอดขาย และช่วยลดความเสี่ยงต่างๆ ของธุรกิจในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการดำเนินงาน (ค่าแรง เงินเฟ้อ ฯลฯ) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เทรนด์ที่เปลี่ยนเร็ว และปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการเป็นสังคมสูงอายุ ซึ่งธุรกิจที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมทางด้านเงินทุน จึงไม่ควรมองข้าม



1. Internet of Things (IoTs) : อุปกรณ์อัจฉริยะตั้งแต่เซ็นเซอร์ไปจนถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้เรื่องการจัดการหลังบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น เจ้าของธุรกิจจะได้ข้อมูลละเอียดแบบเรียลไทม์เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจได้ ทั้งในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ ทรัพยากรบุคคล และการผลิต 

2. Cloud Technology : อีกหนึ่งเทคโนโลยีหลังบ้านที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่/ทุกเวลา และ ประมวลผลจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากได้อย่างปลอดภัย ตลอดจนสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการเพิ่มลดขนาดทรัพยากร (พื้นที่จัดเก็บ และ ความเร็วในการประมวลผล) ได้ทันทีที่ต้องการ



3. Artificial Intelligent / Machine Learning / RPA : ในยุคที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) การวิเคราะห์ข้อมูลบริษัท/ลูกค้าด้วยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การวางแผนผลิต/นำเสนอกิจกรรมการตลาดมีความแม่นยำ ตรงจุด รวมถึงการได้ Insights ใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดทางธุรกิจเพื่อลดต้นทุนและกระตุ้นยอดขายได้ 

4. Voice search / AR / VR : Voice search เครื่องมือค้นหาทางเสียงที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการทางสายตา เป็นต้น รวมถึงเทคโนโลยี AR และ VR ที่มีแนวโน้มถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าสามารถเข้าใจการใช้งาน และ ประโยชน์ของสินค้าโดยไม่ต้องไปหน้าร้าน



5. Affiliate marketing : การตลาดดิจิทัลยุคใหม่ในรูปแบบ Social Commerce ที่มีต้นทุนต่ำผ่านการใช้ Influencers หรือ Creators ที่เป็นที่รู้จักบนแพลตฟอร์ม E-commerce ต่าง ๆ มาช่วยสร้าง Contents เพิ่มยอดขาย และ สร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ โดยธุรกิจจ่ายแค่ค่า Commission โดยไม่ต้องลงแรงในการคิด/ควบคุมคอนเทนต์ 

        อย่างไรก็ดี การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ธุรกิจคงต้องพิจารณาจังหวะเวลา ความพร้อมในการลงทุน และประเมินความคุ้มค่าของแต่ละทางเลือกประกอบ ซึ่งด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น คงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ/ยืนหยัดในใจผู้บริโภคได้นาน (ความภักดีต่อแบรนด์น้อยลง) ทำให้นอกจากจะต้องรู้จักตลาดและเรื่องที่เกี่ยวข้องในธุรกิจแล้ว เจ้าของกิจการคงต้องตื่นตัวและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ จึงจะสามารถนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้ในระยะยาว




กลับ