Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​เศรษฐกิจจีนพลิก จุดกระทบเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 2566 

        หลังจากที่ประเทศจีนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และ เปิดประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างคาดหวังการฟื้นตัวแรงของเศรษฐกิจจีน เพื่อเป็นแรงหนุนของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แต่หลังจากการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1/2566 เศรษฐกิจจีนก็เริ่มส่งสัญญาณสูญเสียโมเมนตัมในไตรมาสที่ 2/2566 โดยแม้จะมีการขยายตัวที่ 6.3YoY จากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนมิถุนายน 2566 ก็ได้สะท้อนโมเมนตัมที่อ่อมแรงลง เช่น
    • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน บ่งชี้การหดตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่ 49.0
    • ยอดค้าปลีกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ 3.1% YoY
    • การส่งออก และ นำเข้าของจีนยังหดตัวลงต่อเนื่อง อยู่ที่ -12.4% YoY และ 6.8% YoY ตามลำดับ 

        นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอุปสงค์โลก และ ปัญหาภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแรง หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในระดับสูง และ อัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจหลายสำนักมีการปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจจีนลง



จีนเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิ​จจีน แม้ต้องเจอข้อจำกัดรอบตัว 

        สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังทางการของจีนมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงินเพิ่มเติม ดังนี้
    • มาตรการทางการคลัง : รัฐบาลจีนอาจมีการใช้จ่ายทางการคลังสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และ อาจออกมาตรการสนับสนุนผู้บริโภค และ ธุรกิจเอกชนมากขึ้น รวมถึงอาจมีการผ่อนปรนนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์บางอย่าง แต่ด้วยระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลท้องถิ่นที่ยังอยู่ในระดับสูง และ ภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ยังอ่อนแอ ทำให้ความสามารถในการออกนโยบายกระตุ้นทางการคลังมีจำกัดโดยคงมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายเท่านั้น
    • มาตรการทางการเงิน : หลังจากที่ธนาคารกลางของจีนมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง คาดว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอีกเพิ่มเติม แต่จะต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กับ เสถียรภาพตลาดการเงิน ซึ่งสะท้อนผ่านภาวะเงินทุนไหลออก และ ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนคงจะทำได้จำกัด


        นอกจากนี้สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศยังมีความเปราะบาง ส่งผลให้ภาคครัวเรือน และ ภาคธุรกิจสูญเสียความเชื่อมั่น เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย โดยภาคครัวเรือน และ ภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะหันไปออมเงิน และ ชำระหนี้มากกว่าซื้อ หรือ ลงทุนใหม่ ทำให้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจได้ผลไม่มากเท่าที่ควร ประกอบกับด้านต่างประเทศที่ภาคส่งออกของจีนมีแนวโน้มอ่อนแรงลง ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และ ปัญหาความขัดแย้งของสหรัฐฯ และ จีนนั้นเอง จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีหลังของ 2566 นี้ มีแนวโน้มที่จะยังอ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในภาพรวมของปี 2566 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ราว 5.2% YoY



เศรษฐกิจไทยรับผลกระทบแรง ทั้งส่งออกแ​ละท่องเที่ยว 

        ที่สำคัญการที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกมีแนวโน้มที่อ่อนแรงลง อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจอาเซียน และ ประเทศไทย ที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนในระดับที่ค่อนข้างสูงผ่านภาคการค้าระหว่างประเทศ และ ภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามการเปิดประเทศ และ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะเป็นแรงหนุนสำคัญของภาคการส่งออก และ ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ เพียงแต่อาจไม่มากอย่างที่เคยคาดการณ์เอาไว้ 

        ในภาคการท่องเที่ยว คาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยราว 5 ล้านคน (จากประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมวด 28.5 ล้านคนในปีนี้) โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามากขึ้นกว่าในครึ่งปีแรก ตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น และ ตามฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศไทย 

        สำหรับภาคการส่งออก การส่งออกจากประเทศไทยไปยังประเทศจีนนั้นคาดว่าจะยังคงเป็นบวกได้ในปีนี้ ท่ามกลางการส่งออกของไทยไปยังตลาดส่วนอื่น ๆ ที่คาดว่าจะติดลบ (สหรัฐฯ และ ยูโรโซน) โดยสินค้าที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกไปจีน คือ สินค้าเกษตร เช่น ผลไม้สด ทั้งแบบแช่แข็ง และ แบบแห้ง ซึ่งคาดว่าจะยังขยายตัวได้ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจีน 

        เมื่อมองภาพรวมการส่งออกของไทยแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะหดตัวอยู่ที่ราว -1.2% YoY ในปีนี้ ในขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวที่ราว 3.7% YoY โดยเป็นการขยายตัวได้สูงในช่วงครึ่งปีหลังตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ การส่งออก 

        อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังคงเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนที่มีการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องของความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น
    • ความไม่แน่นนอนทางการเมือง
    • สภาพอากาศรุนแรงที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาสินค้าเกษตร
    • สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

        ทำให้ผู้ประกอบการ รวมถึงนักลงทุนต้องระมัดระวังในการตัดสินใจ รวมถึงการพิจารณาใช้เครื่องมือเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินให้รอบคอบขึ้นนั่นเอง 

​​


กลับ