Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ได้ผ่านความท้าทายมากมายในช่วงปี 2022 ที่ผ่านมา เช่น การแก้ปัญหาหนี้ของลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการเงินจากวิกฤต COVID-19 , การปรับเกณฑ์ของทางธนาคาร รวมไปถึง การปรับดอกเบี้ยขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ทำให้ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ได้ปรับตัวดีขึ้นถึง 10% จากปีก่อนหน้า

สำหรับในปีนี้ แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ยังถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ไม่ทั่วถึง ทำให้ภาพของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปีนี้ยังอยู่ในภาพการฟื้นตัวที่ระมัดระวัง โดยมีประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องจับตา ซึ่งกระทบต่อการทำธุรกิจและการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 3 ด้าน



ธุรกิจหลักของธนาคารจะเติบโตในกรอบจำกัด

ธุรกิจหลักของธนาคาร นอกเหนือจากการรับฝากเงินจากลูกค้าแล้ว คือ การปล่อยสินเชื่อ และ ดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นช่องทางการเข้ามาของรายได้ของธุรกิจ โดยคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดในด้านนี้ คือ
    • สินเชื่อ : คาดการณ์สินเชื่อในปีนี้ว่าจะเติบโตในกรอบที่จำกัดประมาณ 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเติบโตจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่และกลาง เพราะมีความสามารถในการรับมือวิกฤตได้ดีกว่า อีกทั้งการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สุขภาพ การส่งออก และ ค้าปลีก ก็ยังให้ผลเชิงบวกได้ดีกว่าธุรกิจรายย่อย
    • NPL หรือ หนี้เสีย : ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในปีนี้ นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้ทั่วไป ทำให้การจะลด NPL จึงต้องฝากความหวังที่การปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
    • การขึ้นดอกเบี้ย : การปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ ในขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด จะมีผลบวกที่น้อยลงต่อส่วนต่างดอกเบี้ย (%NIM)
    • ภาระการตั้งสำรองฯ : ในปีนี้ไม่สามารถที่จะลดลงได้มาก จากสถานการณ์สภาพแวดล้อมที่ยังไม่นิ่ง และ NPL ที่สูงกว่าประเทศอื่น ทำให้กดดันการฟื้นตัวของ ROE และ ภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจธนาคาร



ธุรกิจใหม่ เพิ่มโอกาสเติบโตของรายได้

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ต้องเร่งแสดงหาธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบรายได้รูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต แม้หนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยโจทย์การช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ และ ขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้ในปีนี้ธนาคารพาณิชย์ของไทย ยังเดินทางที่จะปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) 

นอกจากธุรกิจสินเชื่อดิจิทัลแล้ว ยังคาดการณ์ว่าจะเห็นการให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจด้านอื่น ๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG) , สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Access) , ธุรกิจต่างประเทศ ตลอดจนธุรกิจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินโดยตรง เช่น ธุรกิจอาหาร หรือ ธุรกิจสันทนาการ โดยทั้งหมดเป็นการย้ำถึงทิศทางของธุรกิจแบงก์ที่วิ่งสู่ Beyond Banking Business ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีส่วนผสมของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และ รายได้จากการถือหุ้นในกิจการที่ตั้งใหม่เพิ่มขึ้นในอนาคต



พร้อมรับมือการแข่งขันในมิติต่าง ๆ 

อีกความแตกต่างที่สำคัญในปีนี้ คือ การกระตุ้นการแข่งขันในมิติต่าง ๆ ที่เป็นไปตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น 
    • การออกใบอนุญาต Virtual Bank : โดยมีประเด็นที่ต้องติดตามได้แก่ การกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ แนวทางการช่วยเหลือ Virtual Bank ให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่มีอยู่ ภายใต้การคิดค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม รวมถึงการคำนึงถึงประเด็นความเท่าเทียม (Level Playing Field) กับผู้ประกอบการที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน 
    • การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน : เพื่อขยายให้สามารถทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เช่น อนุญาตการซื้อขาย FX ผ่านแพลตฟอร์ม หรือ ขยายขอบเขตธุรกิจให้นอนแบงก์ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการแข่งขันด้านรายได้ค่าธรรมเนียม FX ของธนาคาร
    • การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับประชาชนที่ออกโดยธนาคารกลาง : โดยความแพร่หลายในการใช้งานคงจะมีผลในการกำหนดทิศทางของบริการธุรกรรมดิจิทัลของธนาคาร รวมถึงการกำหนดราคาและกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินในระยะถัดไป
    • นโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ : ซึ่งอาจกระทบการปล่อยสินเชื่อโดยตรง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากต้องคำนึงถึงเงินเหลือจากการชำระหนี้ ที่ควรต้องให้ลูกหนี้มีเพียงพอในการดำรงชีพอาจมีเกณฑ์ หรือ ระเบียบเพิ่มเติมที่ไม่สนับสนุนให้ทำแคมเปญกระตุ้นการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินตัว



จากที่กล่าวมาแนวโน้มของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในกรอบที่จำกัดท่ามกลางความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่คงยังมีอยู่ โดยในปี 2023 นี้ ธนาคารกสิกรไทยยังคงดำเนินธุรกิจตามหลักความระมัดระวังรอบคอบภายใต้ทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ในการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี และ กระบวนการใหม่ ๆ รวมทั้งการผนึกกำลังกับพันธมิตรทางธุรกิจ 

มุ่งมั่นเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบธนาคารพาณิชย์กับประชาชนในวงกว้างให้ได้รับการสนับสนุนเงินทุน สภาพคล่อง รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ และ บริการต่าง ๆ ของธนาคารเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจลูกค้าเติบโต ตอบรับโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งธนาคารยังคงดำเนินการเชิงรุกในการดูแล และ ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวไม่เท่ากันผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร สำหรับมุมมองด้านการลงทุน แม้ว่ากลุ่มธนาคารอาจได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น แต่นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร และ ควรใช้กลยุทธ์กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง


​​ 


กลับ