Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​ เศรษฐกิจไทยในปี 2022 นี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 2.9% อันมาจากมาตรการควบคุม COVID-19 และ การเปิดประเทศ ซึ่งทำให้อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวกลับมา ในส่วนของการส่งออกโดยรวมก็ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ช่วงครึ่งปีหลังอาจมีสัญญาณชะลอตัวอยู่บ้าง 




การท่องเที่ยวไทยปัจจัยหลักหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2023 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศอยู่ประมาณ 13 – 20 ล้านคน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีประมาณ 10 ล้านคน โดยการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยจะเป็นปัจจัยหนุนหลักให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ และ ส่งผลดีต่อไปยังตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามหลัก ๆ ได้แก่

    • การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่อาจกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยว
    • นโยบายการเดินทางออกนอกประเทศของจีน และ COVID-19 เป็นศูนย์ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนอาจจะยังไม่กลับมาอย่างน้อยในครึ่งปีแรกของ 2023

ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2023 คาดว่ายังจะเผชิญความท้าทาย และ ความไม่แน่นอนอยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยนั่นเอง

 

ส่งออกไทยยังไม่แน่นอน จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำหรับด้านการส่งออกของไทยในปี 2023 ยังคงเผชิญกับความท้าทายมากมาย ซึ่งจะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิด 

สหรัฐ : ยังคงเห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงแม้จะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งจากการประชุม FOMC (*) ล่าสุดได้ข้อสรุปว่า FED จะยังไม่พิจารณายุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้ และเกิดผลตอบรับกับทิศทางเศรษฐกิจดังนี้

    • ดอกเบี้ยนโยบายของ FED พุ่งแตะระดับที่เกินกว่า 5.00% ในปี 2023
    • ส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมเพิ่มขึ้น กำลังซื้ออ่อนแรงลง กดดันต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค
    • เพิ่มความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยทางเทคนิค

​(*) FOMC : การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ 



ยุโรป : ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติพลังงาน และ อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเพิ่มขึ้น แตะระดับสูงสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้เป็นการเพิ่มแรงกดดันแก่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อดึงกระแสเงินสดออกจากตลาด และแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ




จีน : เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงเปราะบาง ท่ามกลางการดำเนินนโยบาย COVID-19 เป็นศูนย์ และ ปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลง จนนำไปสู่วิกฤติด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ประชาชนภายในประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากอุปสงค์โลกที่ลดลงด้วย

        จากการชะลอตัวของ 3 แหล่งเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจและการค้าของโลกเกิดผลกระทบ รวมไปถึงการส่งออกของประเทศไทยที่ได้พึ่งพาสามตลาดหลักดังกล่าวกว่า 30% 



เงินเฟ้อไทยยังคงสูง แม้ได้รับผลดีจากราคาน้ำมัน

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนแรงลงมา แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงเรื่องของราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในอนาตคด้วยสาเหตุ 

    • ภาวะอุปทานตึงตัวโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาวปลายปีนี้ และ ต้นปีหน้า
    • OPEC+ อาจมีการพิจารณาปรับลดปริมาณการผลิต และ คงไม่ยอมให้มีการปรับลดราคาลงมากว่านี้

นอกจากนี้ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมายังคงเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้เห็นว่ามีการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคในวงกว้าง ดังนั้น เงินเฟ้อของไทยในปี 2023 คาดว่าจะยังคงทรงตัวในระดับสูง และ ไม่ได้ปรับลดลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกดดันกำลังซื้อ และ การบริโภคของครัวเรือนในปีหน้า ท่ามกลางหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้น และ ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังที่ลดลง ทำให้มาตรการช่วยเหลือใด ๆ ของภาครัฐนั้นมีจำกัด และ ระมัดระวังมากขึ้น



แม้จะเผชิญกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง แต่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการท่องเที่ยวยังทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปีหน้าจะขยายตัวอยู่ที่ 3.2 – 4.2% อย่างไรก็ตามนักธุรกิจ และ นักลงทุนยังคงต้องติดตามปัจจัยกระทบสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น

    • ตัวเลขเศรษฐกิจ
    • เงินเฟ้อ
    • สัญญาณทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ 

ซื้อหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรงขึ้น อาจส่งผลต่อภาคการส่งออก และ การท่องเที่ยวไทย และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้นั่นเอง

 


กลับ