Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​​​​ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 กำลังเผชิญความเสี่ยงสำคัญอย่างสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป หลังจากรัสเซียได้ใช้กำลังทางทหารบุกเข้าโจมตียูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา สถานการณ์การสู้รบยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และ แม้มีการเจรจากันหลายครั้งแต่ไม่มีท่าทีว่าความขัดแย้งนี้จะจบลง ขณะที่หลายประเทศทางตะวันตกได้ออกมาคว่ำบาตรรัสเซียไม่ว่าจะเป็น การถอดธนาคารรัสเซียบางรายออกจากระบบสื่อสารของ Swift ซึ่งจะทำให้ชาติที่ทำการค้ากับทางฝั่งรัสเซียเผชิญความยากลำบากมากขึ้น ขณะเดียวกันสหรัฐฯ และ อังกฤษมีการห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย 


        ​Swift (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication หรือ สมาคมโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคาร) คือ ระบบการสื่อสารแบบทันทีทันใดประเภทหนึ่งที่แจ้งให้ผู้ใช้งานทราบเมื่อมีการส่งและรับการชำระเงิน ก่อตั้งโดยธนาคารของยุโรปและสหรัฐฯ หลายแห่ง ปัจจุบันเครือข่าย Swift มีธนาคารและสถาบันการเงินเป็นเจ้าของร่วมกันมากกว่า 2,000 แห่ง


อย่างไรก็ตามแม้ว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศรัสเซีย และ ยูเครนจะไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกันโดยตรง แต่ทั้งสองประเทศเองก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สำคัญ เช่น พลังงาน ข้าวสาลี และ แร่ธาตุจำเป็น ดังนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจึงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง และ เชื่อมโยงมาถึงเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดกับเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 



ราคาพลังงาน และ สินค้า สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ

    • ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น : หลังจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ส่งผลให้ความต้องการพลังงาน และ น้ำมันปรับสูงขึ้น เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการ ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมา ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทย
    • ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น : เป็นผลมาจากความไม่สมดุลของความต้องการน้ำมันที่เกิดขึ้น ทำให้ระดับราคาน้ำมันโลกเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 130$ / Barrel ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี และ ตอนนี้ยังคงยืนที่ระดับเหนือ 100$ / Barrel และ ส่งผลไปที่ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ โดยล่าสุดกระทบกับราคาพลังงาน ทำให้มีมติปรับขึ้นค่าไฟที่เพิ่มสูงสุดเป็นประวิตการณ์ (+5.82%) โดยเริ่มรอบบิลเดือนพ.ค.-ส.ค. 65
    • ราคาข้าวสาลี และ วัตถุดิบที่เกี่ยวข้องสูงขึ้น : เพราะรัสเซีย และ ยูเครนนั้นเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยข้าวสาลีนี้เป็นส่วนประกอบของอาหารคน และ สัตว์จึงส่งผลต่อเนื่องไปสู่ราคาอาหารที่อาจสูงขึ้นได้ในอนาคต
    • เงินเฟ้อยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง : จากระดับราคาพลังงาน และ สินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งไปกดดันต่อเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยฉุดรั้ง​การบริโภคที่กำลังการซื้อของประชาชนตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังมีปัจจัยตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในสภาวะเปราะบางอีกด้วย


ผลกระทบทางอ้อมของการส่งออก

แม้ว่าเมื่อดูจากยอดการส่งออกของไทย ที่ไปยังประเทศรัสเซีย และ ยูเครนแล้วนั้น เป็นสัดส่วนที่น้อยเพียง 0.4% และ 0.05% ตามลำดับ แต่จากสถานการณ์ความขัดแย้งของ 2 ประเทศที่เกิดขึ้นที่อาจมีแนวโน้มกระทบไปยังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป ที่อาจจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ มีผลทำให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยนั้นลดลงตามไปด้วยนั่นเอง


ส่งผลถึงอุตสาหก​รรมการท่องเที่ยว

หากพูดถึงภาคการท่องเที่ยวของไทยแล้ว หลังจากการเปิดประเทศนั้น นักท่องเที่ยวจากยุโรปเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลักอย่างจีนไม่สามารถกลับมาได้อย่างเต็มที่จากนโยบายภายในประเทศ โดยจะเห็นได้ว่าสัดส่วนของนักท่องเที่ยวยุโรปเมื่อปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนกว่า 58.7% โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวรัสเซียกว่า 12.3% เลยทีเดียว (ภาพประกอบที่ 1)
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย และ ยูเครนที่เกิดขึ้นนี้มีแนวโน้มส่งผลต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวรัสเซียลดลง เนื่องจากปัจจัยค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลง และ ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกิดจากการคว่ำบาตรของนานาชาติ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยทำให้ฟื้นตัวล่าช้าขึ้นไปอีกด้วย


(ภาพประกอบที่ 1 : สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย (%))

ด้วยผลกระทบ 3 ด้าน ทั้งด้านเงินเฟ้อ การส่งออก และ การท่องเที่ยว รวมไปถึงราคาของพลังงานที่ยังจะคงสูงอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลง ทำให้เป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 2.5 – 2.9% ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินในช่วงปลายปีก่อน สาเหตุหลักมาจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตามองต่อเนื่อง 

สำหรับผู้ประกอบการในไทยต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนในกรอบอ่อนค่า จากสถานการณ์รัสเซียยูเครนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ได้ส่งผลกระทบกดดันค่าเงินดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 6 ครั้งในปีนี้ (เริ่มปรับขึ้นครั้งแรกเดือนมี.ค. 65) 
* ห้องค้ากสิกรไทยมีมุมมองว่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 34.00 - 34.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงเดือนมิ.ย. 2565 นี้

 


กลับ